Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาให้เข้าใจถึงปัญหาและการดำเนินการแก้ปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าบริเวณแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำเมย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523-2542 โดยต้องการจะวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลต่อการแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำทั้งสามสายนี้ สำหรับการศึกษาในเรื่องนี้ได้อาศัยแนวคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพัน (linkage politics) ของ James N. Rosenau มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมภายในประเทศ (ปัจจัยภายใน) กับสภาพแวดล้อมภายนอกประเทศ (ปัจจัยภายนอก) ที่มีผลต่อการดำเนินการแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสาย แม่น้ำรวกและแม่น้ำเมย ผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า การแก้ไขปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกระหว่างไทยกับพม่าประสบผลสำเร็จเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ความสัมพันธ์ที่ดีในระดับผู้นำรัฐบาลไทยและพม่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การที่รัฐบาลไทยและพม่ามีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในวงจำกัดจึงไม่ค่อยมีผลต่อความมั่นคงของไทย ส่วนการที่การแก้ไขปัญหาเขตแดนบริเวณแม่น้ำเมยไม่ประสบผลสำเร็จเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน ได้แก่ การที่รัฐบาลไทยและพม่ามีจุดยืนทางนโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชนที่แตกต่างกันและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมระหว่างไทยกับพม่าที่มีความหลากหลาย ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลพม่าขัดแย้งอย่างมากกับกลุ่มต่อต้านจนทำให้ไปกระทบกับความมั่นคงของไทย