Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมสุขภาพช่องปากของเด็กก่อนวัยเรียนใน ครอบครัวและชุมชนหมู่บ้านอีก้อป่ากล้วยทั้งความคิด ความเชื่อ และการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก พฤติกรรมการดูแลอนามัยในช่องปาก พฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมการป้องกันและรักษาโรคฟันผุเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม กระบวนการศึกษาครั้งนี้เป็นวิธีการวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive Research) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative study) ด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ และการสัมภาษณ์เจาะลึก ร่วมกับการใช้ข้อมูลเอกสารและการตรวจสภาวะช่องปาก ซึ่งใช้ระยะเวลาเก็บข้อมูลภาคสนามทั้งสิ้น 4 เดือน ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมสุขภาพช่องปากมีการปลูกฝังสะสมและถ่ายทอดกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การที่ชาวบ้านมีวิธีคิดและการรับรู้เกี่ยวกับ สุขภาพช่องปากว่า “ฟันผุในเด็กก่อนวัยเรียน” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่คิดว่าเป็น “โรค” ความคิดความเชื่อตามวัฒนธรรมท้องถิ่นประกอบกับ "กระบวนการพัฒนา" ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในด้านการมีรายได้สูงขึ้น การคมนาคมที่สะดวก ทำให้สามารถเข้าถึงสินค้าบริโภคฟุ่มเฟือยที่ก่อให้เกิดฟันผุได้มากขึ้น การเข้าสู่ตลาดแรงงานของสตรีทำให้เวลาในการดูแลบุตรในครอบครัวลดลง การแพร่ขยายของสื่อโทรทัศน์ทำให้เกิดค่านิยมในการบริโภคอาหารที่มีอันตรายต่อฟันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีภาวะแวดล้อมที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูงขึ้นจนกระทั่งการดูแลอนามัยช่องปากภายใต้วิถีเดิมไม่สามารถรักษาดุลยภาพของสุขภาพ ช่องปากที่ดีได้ ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขจึงต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ของ ชุมชนต่อการป้องกันโรคและการเสริมสร้างสุขภาพช่องปากของเด็กก่อนวัยเรียนกลุ่มนี้ ด้วยกลยุทธ์และการวางแผนอย่างเป็นระบบที่สอดคล้องกับความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชุมชนชาวอาข่า จึงจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่มีความยั่งยืน