Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นของเด็กไทยกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กไทยอายุ 6-12 ปี จำนวน 140 คน เพศชายและเพศหญิงจำนวนเท่ากันในแต่ละกลุ่ม การศึกษาเริ่มต้นโดยให้เด็กบรรยายเรื่องราวจากภาพให้ฟัง (เป็นการบรรยายเรื่องในเบื้องต้น) จากนั้นให้เด็กสวมบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่อง แล้วบรรยายความคิด ความรู้สึกของตัวละครในเหตุการณ์นั้น บันทึกเสียงคำตอบของเด็ก และทำการแปลผลข้อมูลสู่ตารางบันทึกความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่น จากนั้นผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ระดับพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นของเด็กไทยในแต่ละกลุ่มอายุตามแนวคิดของ Feffer & Gourevitch (1960) และเสนอตารางพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นของเด็กไทย ผลการวิจัยพบว่า 1. เด็กไทยอายุ 6 ปี จำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ มีพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นอยู่ในขั้น Simple Refocusing 1 2. เด็กไทยอายุ 7 ปี จำนวน 85 เปอร์เซ็นต์ และ 8 ปี จำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ มีพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นอยู่ในขั้น Consistent Elaboration 1 3. เด็กไทยอายุ 9 ปี จำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ 10 ปี จำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ และ 11 ปี จำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ มีพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นอยู่ในขั้น Consistent Elaboration 2 4. เด็กไทยอายุ 12 ปี จำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ มีความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นอยู่ในขั้นสูงสุด Change of Perspective 5. ไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศในแต่ละระดับอายุในพัฒนาการความสามารถในการเข้าใจทัศนะผู้อื่นของเด็กไทย