Abstract:
ศึกษาผลของการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจต่อการเปลี่ยนเจตคติ ความเชื่อ การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง การรับรู้การควบคุมพฤติกรรม เจตนา และพฤติกรรมของมารดาที่เจตนาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเลี้ยงลูกด้วยนมผสม กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มารับบริการฝากครรภ์ ณ หน่วยฝากครรภ์ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 120 คน สุ่มตัวอย่างที่เจตนาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเจตนาจะเลี้ยงลูกด้วยนมผสม กลุ่มละ 60 คน เข้าเงื่อนไขการทดลอง 1 ใน 4 เงื่อนไข กลุ่มละ 15 คน คือ ฟังแบบการชักชวนที่เน้นผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ฟังแบบการชักชวนที่เน้นผลเสียของการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ฟังแบบการชักชวนที่เน้นทั้งผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผลเสียของการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ฟังแบบการชักชวน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนของ Ajzen และสารโน้มน้าวใจสามแบบ สองแบบแรกพัฒนามาจากงานวิจัยของ McArdle (Ajzen & Fishbein, 1980) แบบที่สามเป็นการผสมผสานระหว่างแบบที่หนึ่งและแบบที่สอง ผลการวิจัยปรากฎดังนี้ 1. หญิงตั้งครรภ์ที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการเปลี่ยนเจตคติทางตรง เจตคติทางอ้อม และเจตนาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลังจากได้รับฟังการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจ 4 เงื่อนไข ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. หญิงตั้งครรภ์ที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมผสมมีการเปลี่ยนเจตคติทางตรง และเจตนาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมผสมหลังจากรับฟังแบบการชักชวน ที่เน้นทั้งผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และผลเสียของการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม(เงื่อนไขที่ 3) ไปในทิศทางลบเชิงสัมพัทธ์มากกว่าเงื่อนไขควบคุม (เงื่อนไขที่ 4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) และมีการเปลี่ยนเจตคติทางอ้อมและการรับรู้การควบคุมพฤติกรรม หลังจากรับฟังแบบการชักชวนที่เน้นทั้งผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผลเสียของการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม (เงื่อนไขที่ 3) ไปในทิศทางลบเชิงสัมพัทธ์มากกว่าเงื่อนไขควบคุม (เงื่อนไขที่ 4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .01) 3. จำนวนมารดาที่เจตนาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น หลังจากรับฟังการสื่อสารเพื่อการโน้มน้าวใจเงื่อนไขที่ 1 2 และ 3 4. จำนวนมารดาที่เจตนาจะเลี้ยงลูกด้วยนมผสม หลังจากรับฟังแบบการชักชวนที่เน้นทั้งผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และผลเสียของการเลี้ยงลูกด้วยนมผสม (เงื่อนไขที่ 3)น้อยกว่าแบบการชักชวนที่เน้นผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (เงื่อนไขที่ 1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05)