Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติต้านการรั่วซึมระดับไมโครเมตรและนาโนเมตรของเรซินซีเมนต์ 3 ชนิด บริเวณรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟัน เคลือบฟัน และเนื้อฟัน ทดสอบโดยใช้ฟันกรามแท้ของมนุษย์ตัดขวางบริเวณส่วนกลาง 1/3 ของตัวฟันเพื่อเตรียมเป็นชิ้นตัวอย่างและชิ้นควบคุมขนาด 2x4x1 ม.ม. กลุ่มละ 48 ชิ้น แต่ละชิ้นประกอบด้วยเคลือบฟันและเนื้อฟันซึ่งห่างจากรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันข้างละ 1 ม.ม. สุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 8 ชิ้น ยึดชิ้นตัวอย่างกับแผ่นเรซินคอมโพสิตด้วยซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีซีเมนต์ (กลุ่มที่ 1 และ 4) พานาเวียเอฟซีเมนต์ (กลุ่มที่ 2 และ 5) และเวลิโอลิงค์ทูซีเมนต์ (กลุ่ม 3 และ 6) แช่ชิ้นตัวอย่างและชิ้นควบคุมทั้งหมดในน้ำกลั่น อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เคลือบผิวด้วยสีทาเล็บยกเว้นด้านหน้า แช่กลุ่ม 1-3 ในสารละลายเบสิกฟุชซินร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ดูและวัดการรั่วซึมระดับไมโครเมตรของชิ้นตัวอย่างภายใต้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอและด้วยเครื่องไมโครมิเตอร์ แช่กลุ่ม 4-6 ในสารละลายซิลเวอร์ไนเทรตร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ดูและวัดการรั่วซึมระดับนาโนเมตรภายใต้กล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดสัญญาณอิเล็กตรอนกระเจิงกลับและใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราดร่วมกับเครื่องวิเคราะห์ธาตุเพื่อศึกษาการกระจายของธาตุเงิน เตรียมชิ้นควบคุม 3 ชิ้น และชิ้นตัวอย่างกลุ่มละ 7 ชิ้น เพื่อศึกษาลักษณะรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันและชั้นไฮบริดเมื่อยึดด้วยเรซินซีเมนต์แต่ละชนิด ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทางและการทดสอบแทมเฮนทีทู ในกลุ่มควบคุมพบว่าเนื้อฟันมีการรั่วซึมของสีย้อมมากกว่ารอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันและเคลือบฟันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) ไม่พบการรั่วซึมของสีย้อมบริเวณเคลือบฟัน เนื้อฟันมีการรั่วซึมของสารละลายซิลเวอร์ไนเทรตไม่แตกต่างกับรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในเนื้อฟันและรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันมีการรั่วซึมของสารละลายซิลเวอร์ไนเทรตมากกว่าเคลือบฟันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบความแตกต่างของการรั่วซึมระดับไมโครเมตรและนาโนเมตรบริเวณรอยต่อระหว่างซีเมนต์กับชั้นฟัน กลุ่มเวลิโอลิงค์ทูซีเมนต์มีการรั่วซึมของสีย้อมและสารละลายซิลเวอร์ไนเตรตบริเวณรอยต่อระหว่างซีเมนต์กับเนื้อฟันและและซีเมนต์กับรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันมากกว่ากลุ่มซุปเปอร์บอนด์ซีแนด์ซีเมนต์และพานาเวียเอฟซีเมนต์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มพานาเวียเอฟซีเมนต์มีการรั่วซึมของสารละลายซิลเวอร์ไนเทรตบริเวณรอยต่อระหว่างซีเมนต์กับเนื้อฟัน และซีเมนต์กับรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันมากกว่ากลุ่มซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีซีเมนต์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่พบการรั่วซึมของสีย้อมและสารละลายซิลเวอร์ไนเทรตบริเวณรอยต่อเคลือบฟันกับเรซินซีเมนต์ทั้ง 3 ชนิด หลังจากแช่ในสารละลายกรดไฮโดรคลิกริกและสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ กลุ่มซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีซีเมนต์มีความหนาของชั้นไฮบริดของเคลือบฟัน เนื้อฟัน และรอยต่อเคลือบฟันกับเนื้อฟันคงที่ กลุ่มพานาเวียเอฟซีเมนต์และเวลิโอลิงค์ทูซีเมนต์มีขนาดชั้นไฮบริดของเนื้อฟันบางลง โครงสร้างและส่วนประกอบของชั้นฟันมีผลต่อการยอมให้สารผ่านตามธรรมชาติ การยึดของเรซินซีเมนต์ทั้ง 3 ชนิดบริเวณเคลือบฟันสามารถต้านทานการรั่วซึมระดับนาโนเมตรตามธรรมชาติได้ การเกิดชั้นไฮบริดที่สมบูรณ์ของซูเปอร์ซีแอนด์บีซีเมนต์โดยการเตรียมผิวฟันแบบแห้งสามารถป้องกันการรั่วซึมระดับนาโนเมตรได้ การยึดของพานาเวียเอฟซีเมนต์กับเนื้อฟันและรอยต่อเคลือบฟันโดยการเตรียมผิวฟันแบบใช้สารปรับสภาพร่วมกับไพเมอร์โดยไม่ต้องล้างออกสามารถต้านทานการรั่วซึมระดับไมโครเมตรแต่ไม่สามารถต้านทานการรั่วซึมระดับนาโนเมตรได้ และการยึดของเวโอลิงค์ทูซีเมนต์โดยการเตรียมผิวฟันแบบขึ้นไม่สามารถต้านทานการรั่วซึมระดับไมโครเมตรได้