Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาอิทธิพลของนักคิดสำนักโครงสร้างนิยมสายฝรั่งเศสที่มีต่อมานุษยวิทยาไทย ในลักษณะของการศึกษากระบวนการคิดหรือแนวคิดทฤษฎีของนักคิดชื่อ Claude Levi-Strauss นักมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้างชาวฝรั่งเศสที่มีสมมติฐานวิธีการศึกษาโครงสร้างความคิดของมนุษย์อันเป็นสากล วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาแนวความคิดโดยทั่วไปของ Levi-Strauss โดยเน้นเฉพาะเรื่องความคิดในชนเผ่าดั้งเดิมและการศึกษานิทานปรัมปรา ผลสรุปที่ได้คือ Levi-Strauss มีความเชื่อว่าความคิดแบบชนดั้งเดิมและความคิดที่ปรากฏในนิทานปรัมปรานั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เพราะว่าเป็นผลผลิตที่ได้จากโครงสร้างความคิดส่วนลึกอันเป็นสากลหรือโครงสร้างความคิดของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ส่วนการศึกษาอิทธิพลความคิดผ่านงานมานุษยวิทยาไทยนั้น พบว่า อิทธิพลทางแนวคิดเรื่องโครงสร้างนิทานปรัมปราของ Levi-Strauss ถูกนำมาใช้ผ่านงานมานุษยวิทยาไทยในเรื่องโครงสร้างย่อย หลักคู่ตรงข้าม การผ่านนิทานปรัมปราด้วยวิธีการแบบโครงสร้างนิยม แต่คงเป็นเพราะว่า แนวคิดของ Levi-Strauss มีความซับซ้อนและคลุมเครือ การศึกษาแนวความคิดดังกล่าวจึงเป็นไปในลักษณะของการตีความและความเข้าใจส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี แนวคิดแบบโครงสร้างนิยมก็ได้เปิดมุมมองและยกระดับการศึกษาทางมานุษยวิทยาไทย ในแง่มุมของทฤษฎีความคิด และเพิ่มประเด็นการศึกษาทางมนุษยวิทยาไทย