Abstract:
การวิจัยนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การวิจัยส่วนที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหวัง และกลวิธีการเผชิญปัญหาของนักศึกษา เพื่อศึกษาเปรียบเทียบความหวัง และกลวิธีการเผชิญปัญหาของนักศึกษาที่มีภูมิหลังแตกต่างกันในด้าน เพศ ชั้นปี สาขาวิชา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหวัง และกลวิธีการเผชิญปัญหาของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี 509 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความหวัง และแบบวัดการเผชิญปัญหาวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ 3 ทาง วิเคราะห์เปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีของ Dunnett'sT3 และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันระหว่างความหวังและกลวิธีการเผชิญปัญหา ผลการวิจัยพบว่า 1. นักศึกษาโดยทั่วไปมีความหวังในระดับปานกลางค่อนข้างสูง และนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูงและปานกลาง มีระดับความหวังสูงกว่านักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ 2. นักศึกษาใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาที่มีประสิทธิภาพโดยเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา และแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมในระดับสูง และใช้วิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพคือแบบหลีกหนีในระดับปานกลาง 3. นักศึกษาหญิงใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม และแบบหลีกหนีมากกว่านักศึกษาชาย แต่ใช้แบบมุ่งจัดการกับปัญหาไม่แตกต่างกัน 4. นักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูง และปานกลางใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหามากกว่านักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ และนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูงใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมมากกว่านักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ 5. ความหวังมีความสัมพันธ์ทางบวกกับกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา และแบบแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนี การวิจัยส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะความหวังของนักศึกษา ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูงและต่ำ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก กับกลุ่มตัวอย่างจากการวิจัย ส่วนที่ 1 จำนวน 20 คน ผลการวิจัยพบว่า : นักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสูงมีความหวังสูง โดยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้สูง หลากหลาย และค่อนข้างยาก มีความตั้งใจสูง และมีแนวทางไปสู่เป้าหมายได้หลากหลาย รวมถึงสามารถวางแผน และจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่นักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ มีเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่มีความตั้งใจ และพลังแห่งแนวทางค่อนข้างต่ำ และใช้วิธีการเผชิญปัญหาทั้งที่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิภาพ