Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาสาเหตุการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของไทยกับสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลีเมื่อปี พ.ศ. 2493 ในช่วงสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยดังกล่าวนั้น ในบริบทของสงครามเย็นที่เป็นระบบ 2 ขั้วอำนาจ เป็นการแสดงนัยถึงการเข้าเป็นฝักฝ่ายกับโลกเสรี และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นรูปธรรม เนื่องจาก ความช่วยเหลือต่างๆ จากสหรัฐอเมริกาต่อไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังการเข้าสู่สงครามเกาหลีของไทย งานวิจัยนี้ ได้นำงานวิชาการที่อธิบายการเข้าสู่สงครามเกาหลีของไทย รวมถึง ทฤษฎีทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องการฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และการเข้าเป็นพันธมิตรของรัฐ มาประกอบในการอธิบายสาเหตุนโยบายดังกล่าว โดยวิธีการศึกษานั้น เป็นการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสงครามเกาหลี รวมถึงการนำทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอธิบายควบคู่ไปกับการอธิบายเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ภาพของการดำเนินนโยบายดังกล่าวมีความสมบูรณ์ขึ้น ผลจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของไทยกับสหรัฐอเมริกาในสงครามเกาหลี มิได้มีสาเหตุมาจากการมีภัยคุกคามร่วมกันแต่เพียงอย่างเดียว หรือไทยต้องการให้สหรัฐอเมริกาสนับสนุนต่อต้านภัยคุกคามคอมมิวนิสต์เท่านั้น ตามคำอธิบายของงานวิชาการส่วนใหญ่ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 1990 และกรอบการอธิบายของสำนักสัจจนิยมที่ให้น้ำหนักกับปัจจัยภายนอก แต่การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ได้เสริมสร้างความมั่นคงของระบอบของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งในการสยบภัยทางการเมืองภายใน สนับสนุนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้นำทหาร รวมถึงต่อประเทศในภาพรวม โดยสอดคล้องกับคำอธิบายของงานส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา และเป็นไปตามกรอบการอธิบายที่นำเสนอโดย ไมเคิล เอน บาร์เนท และแจค เอส ลีวี ที่ให้น้ำหนักกับปัจจัยภายใน