Abstract:
ศึกษาผลของอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดต่อการเปลี่ยนแปลงความแข็งผิวของเคลือบฟัน เนื้อฟันและวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน โดยเตรียมชิ้นตัวอย่างเคลือบฟัน เนื้อฟันจากฟันกรามน้อยมนุษย์ และวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน 5 ประเภท คือ ไฮบริด เรซิน คอมโพสิต (Filtek Z250) ไมโครฟิลล์ เรซิน คอมโพสิต (Filtek A110) คอนเวนชันแนล กลาสไอโอโนเมอร์ (Fuji IX) เรซิน มอดิฟายด์ กลาสไอโอโนเมอร์ (Fuji II LC) และโพลีแอซิด มอดิฟายด์ เรซิน คอมโพสิต (Dyract AP) กลุ่มละ 50 ชิ้น วัดค่าความแข็งผิวชิ้นตัวอย่างด้วยเครื่องวัดความแข็งผิวแบบจุลภาค โดยใช้หัววิกเกอร์ส กด 6 ครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อหนึ่งชิ้นตัวอย่าง จากนั้นแบ่งชิ้นตัวอย่างแต่ละชนิดโดยการสุ่มเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 10 ชิ้น เพื่อแช่ในอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด 5 ชนิด คือ น้ำอัดลมรสโคลา (โค้กกระป๋อง) นมเปรี้ยว (ดัชมิลล์รสผลไม้ผสม) น้ำส้มคั้นบรรจุกล่อง (ทิปโก) เครื่องดื่มเกลือแร่ (สปอนเซอร์) และต้มยำ (คนอร์) โดยแช่ในอาหารหรือเครื่องดื่ม 5 วินาทีสลับกับแช่ในน้ำลายเทียม 5 วินาที จำนวน 10 รอบ วัดค่าความแข็งผิวชิ้นตัวอย่างอีกครั้งด้วยวิธีเดียวกัน นำค่าความแข็งผิวก่อนและหลังแช่ในอาหารและเครื่องดื่มมาทดสอบด้วยสถิติแพร์ที-เทสท์ (Paired t-test) และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way ANOVA) ผลการศึกษานี้แสดงว่า น้ำอัดลมรสโคลาลดค่าความแข็งผิวของเคลือบฟัน เนื้อฟัน ไมโครฟิลล์ คอมโพสิต และเรซิน มอดิฟายด์ กลาสไอโอโนเมอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value<0.05) น้ำส้มคั้นบรรจุกล่องและเครื่องดื่มเกลือแร่ สามารถลดค่าความแข็งผิวของเคลือบฟันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value<0.05) ส่วนนมเปรี้ยวและต้มยำก้อนไม่ทำให้ความแข็งผิวลดลง