Abstract:
ศึกษาประวัติและพัฒนาการ การรำประสมท่าและชีวประวัติของโนราผู้หญิง วิธีวิจัยใช้การศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์นายโรงโนรา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโนรา การสังเกตและการสาธิตการรำของนายโรงโนราผู้หญิง คือ โนราถวิลหรือนางถวิล จำปาทอง ผลการศึกษาสรุปได้ว่า โนราผู้หญิงเป็นกลุ่มนักแสดงที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา การปรากฏของโนราผู้หญิงมีผลต่อการพัฒนาการแสดงโนราตามลำดับดังนี้ ปี พ.ศ. 2482 พัฒนาการแสดงโนราเป็นแบบเล่นกลอนสด หรือ มุตโต ปี พ.ศ. 2484 เป็นโนราแบบแสดงเรื่องหรือเล่นนิยาย ปี พ.ศ. 2500 เป็นโนราแบบ "สมัยใหม่" และปี พ.ศ. 2507 พัฒนาฟื้นฟูการแสดงโนราแบบโบราณในสถาบันการศึกษา กระบวนรำประสมท่าของนายโรงโนราผู้หญิงพบว่ามี 2 ลักษณะ คือ กระบวนรำประสมท่าที่ประกอบด้วยท่ารำ 58 ท่า และกระบวนรำประสมท่าที่ประกอบด้วยท่ารำ 42 ท่า มีรูปแบบกระบวนรำ 10 ขั้นตอน คือ 1. รำออกจากฉาก 2. รำเทิงตุ้ง 3. รำแม่ท่า 4. รำนาดช้า 5. รำจับระบำ 6. รำเพลงครู 7. รำนาดเร็ว 8. รำเพลงทับ 9. รำท่องโรง 10. รำเคล้ามือนั่งพนัก กลวิธีนำเสนอรูปแบบกระบวนรำคือ 1. ปฏิบัติท่ารำเรียงตามลำดับขั้นตอน 2. การเรียงลำดับท่ารำ ประกอบด้วยท่านั่งรำ ยืนรำ และท่าเคลื่อนที่ 3. การเลือกใช้ท่ารำต้องมีความสมดุลย์และเหมาะสมกับสรีระร่างกาย แนวคิดการรำประสมท่าคือ 1. กระบวนรำต้องปฏิบัติตามแบบโบราณ 2. ยึดท่ารำของครูโนราเป็นหลัก 3. มีการปรับเปลี่ยนกระบวนท่ารำ ให้สอดคล้องกับเวลา โอกาส และความพร้อมของผู้ชมและผู้นำ 4. เลือกปฏิบัติท่ายากไปหาท่าง่าย โนราผู้หญิงที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์การแสดงมา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีปรากฏอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง กระบี่ และสุราษฎร์ธานี มีสาเหตุการฝึกรำโนราแตกต่างกันคือ 1. อยู่ในแวดวงโนรา 2. ถูกครูหมอโนรา 3. มีใจรักในศิลปะการรำโนรา 4. ความต้องการของบิดา-มารดา ปัจจุบันความสนใจในการฝึกรำโนราของผู้หญิงลดลง