Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาการดำเนินนโยบายของไทยในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารในกรอบขององค์การซีโต้เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยต้องการทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่ให้ความสำคัญกับองค์การซีโต้ จนกระทั่งตัดสินใจสนับสนุนให้มีการยุบเลิก องค์การซีโต้ในเวลาต่อมา ขอบเขตของการศึกษาเริ่มจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การซีโต้ และการดำเนินงานขององค์การซีโต้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนกระทั่งสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยเน้นการศึกษาในช่วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาลหลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีผลต่อการยุบเลิกองค์การซีโต้ ทั้งนี้ได้ใช้แนวความคิดเกี่ยวกับพันธมิตรในการวิเคราะห์ เนื่องจากประเทศสมาชิกในองค์การซีโต้ขาดปัจจัยสำคัญในการเป็นพันธมิตรคือ ความต้องการที่จะต่อต้านภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ร่วมกัน ไทยจึงสนับสนุนให้มีการยุบเลิกองค์การซีโต้ จากการศึกษาพบว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ไทยไม่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือแบบพหุภาคีในกรอบขององค์การซีโต้ คือประเทศสมาชิกในองค์การซีโต้มีความแตกแยกในการต่อต้านภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่วิกฤตการณ์ในลาวและสงครามในเวียดนาม ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เห็นความสำคัญของการต่อต้านคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับไทย ดังนั้นไทยจึงหันมาพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้กรอบแถลงการณ์ร่วมถนัด - รัสก์ ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบทวิภาคีภายใต้กรอบองค์การซีโต้แทน จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงทัศนะและนโยบายต่อประเทศคอมมิวนิสต์จากความพยายามในการสกัดกั้นภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เป็นการปรับความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ไทยสนับสนุนให้มีการยุบเลิกองค์การซีโต้อย่างเป็นทางการ