Abstract:
ศึกษาวิธีประมาณค่าพารามิเตอร์ของตัวแบบถดถอย ที่มีตัวแปรตามแจกแจงแบบปัวส์ซง 2 วิธีคือ วิธีภาวะน่าจะเป็นสูงสุด (Maximum Likelihood Estimation) และวิธีกำลังสองน้อยที่สุดถ่วงน้ำหนัก (Weighted Least Square) ตัวแบบที่นำมาใช้ในงานวิจัยนี้เป็นตัวแบบที่มีฟังก์ชันเชื่อมโยง (Link Function) เป็นเอกลักษณ์ (Identity) โดยกำหนดให้ตัวแบบถดถอยมีตัวแปรอิสระ 1, 2 และ 3 ตัวแปร ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation) ของตัวแปรอิสระมี 3 ระดับคือ ไม่มีความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระ มีความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระน้อย และมีความสัมพันธ์ของตัวแปรอิสระมาก และกำหนดให้มีขนาดตัวอย่างเป็น 25, 50, 75, 100, 125, 150, 175, 200, 225, 250, 275, 300, 325, 350, 375 และ 400 ตามลำดับ ในการวิจัยครั้งนี้ได้จำลองข้อมูลและสร้างตัวแบบถดถอยด้วยโปรแกรม s-plus 2000 และประมวลผล 500 รอบทั้งในการจำลองข้อมูลและการสร้างตัวแบบถดถอย โดยใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ยของผลบวกของกำลังสอง ของความคลาดเคลื่อนของสัมประสิทธิ์ความถดถอย (AMSE) เป็นเกณฑ์สำหรับวัดวิธีการประมาณ 2 วิธี จากการวิจัยครั้งนี้ผลสรุปสุดท้ายได้ว่า ในการประมาณค่าสัมประสิทธิ์ความถดถอย ของตัวแบบถดถอยที่มีตัวแปรตามแจกแจงแบบปัวส์ซง ที่สร้างจากวิธีการกำลังสองน้อยที่สุดถ่วงน้ำหนัก และวิธีการภาวะน่าจะเป็นสูงสุดนั้น ให้ค่าสัมประสิทธิ์ความถดถอยที่ใกล้เคียงกันและให้ตัวแบบที่ดีใกล้เคียงกัน ในส่วนการพิจารณาตัวแบบปัวส์ซงจากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ของตัวแปรอิสระที่แตกต่างกัน 3 ระดับนั้นไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ใดให้ตัวแบบดีกว่ากันในทั้ง 2 วิธีการสร้างตัวแบบ