Abstract:
ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทการเป็นภรรยา และบทบาทการเป็นมารดาของผู้หญิงกะเหรี่ยงสะกอบ้านแม่ขะปู หมู่ที่ 3 ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยศึกษาผู้หญิงที่แต่งงานและมีบุตรแล้วจำนวน 53 คน ใน 4 ช่วงอายุ คือ ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 21-40 ปี 15 คน, 41-60 ปี 15 คน, 61-80 ปี 15 คน และ 81 ปีขึ้นไป 8 คน การศึกษาเป็นลักษณะเปรียบเทียบให้เห็นบทบาทการเป็นภรรยาและบทบาทการเป็นมารดาของผู้หญิงในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบทบาทดังกล่าว รวมถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบทบาทนั้น หมู่บ้านที่ศึกษา คือ หมู่บ้านแม่ขะปู หมู่ที่ 3 ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอ ประกอบด้วย 5 หย่อมบ้าน มีครัวเรือนทั้งหมด 194 หลังคาเรือน 266 ครอบครัว และมีประชากรทั้งสิ้น 1,016 คน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผี ประชากรส่วนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ วิธีการในการศึกษา ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาเป็นหลัก โดยการเข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนเป็นระยะเวลา 1 ปี ใช้เทคนิคในการเก็บข้อมูลหลายวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เพื่อทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทการเป็นภรรยาและบทบาทการเป็นมารดาของผู้หญิง รวมทั้งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลการวิจัยพบว่า การรับนวัตกรรม และการติดต่อกับโลกภายนอก เป็นปัจจัยที่มีผลทำให้บทบาทการเป็นภรรยาและบทบาทการเป็นมารดาเปลี่ยนแปลงไป หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เป็นปัจจัยที่มีผลทำให้บทบาทการเป็นมารดาเปลี่ยนแปลงไป และน้ำประปาเป็นปัจจัยที่มีผลทำให้บทบาทการเป็นภรรยาเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่มีผลทำให้บทบาทการเป็นมารดาเปลี่ยนแปลงไป