Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวและปัจจัยที่มีอิทธิพล ต่อการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นในชุมชนแออัดในเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ข้อมูลที่ใช้ศึกษาได้จากการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามกับผู้ย้ายถิ่นในชุมชน แออัดตัวอย่าง 5 ชุมชน จำนวน 500 ราย การศึกษาการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นครั้งนี้วัดจากความรู้สึกพึงพอใจของตัวผู้ ย้ายถิ่นต่อความต้องการด้านต่างๆ ในท้องถิ่นปลายทาง จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ย้ายถิ่นปรับตัวในระดับค่อนข้างดี โดยผู้ย้ายถิ่นรู้สึกพึงพอใจมากที่สุดกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน และรู้สึกพึงพอใจกับการยอมรับจากเพื่อนบ้านและเพื่อนที่ทำงาน แต่รู้สึกเฉยๆ กับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนอกเหนือจากเพื่อนบ้านและเพื่อนที่ทำงาน ในขณะที่ผู้ย้ายถิ่นรู้สึกไม่พึงพอใจกับการมีส่วนร่วมในงานต่างๆ ของสมาชิกในชุมชน และรู้สึกไม่พึงพอใจมากที่สุดกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาชุมชน ผลการวิเคราะห์การถดถอยอย่างง่าย พบว่าตัวแปรอิสระที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ อายุเมื่อย้ายถิ่น ประสบการณ์การย้ายถิ่น และรายได้ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นกับตัวแปรอิสระแต่ละตัว เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ คือ อายุเมื่อย้ายถิ่น และประสบการณ์การย้ายถิ่นมีความสัมพันธ์ทางลบกับการปรับตัว ในขณะที่รายได้มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่น ส่วนผลการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุแบบปกติ พบว่ากลุ่มตัวแปรอิสระมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยตัวแปรอิสระทั้ง 12 ตัว ร่วมกันอธิบายการแปรผันของผู้ย้ายถิ่นได้ร้อยละ 5.9 และผลการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุแบบขั้นตอน พบว่ารายได้สามารถอธิบายการแปรผันของการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นได้ดีที่สุด คือ ร้อยละ 2.5 รองลงไปคือ ประสบการณ์การย้ายถิ่นซึ่งสามารถเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของการปรับตัว ได้ร้อยละ 1.7 และการได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นซึ่งสามารถเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปร ผันของการปรับตัวได้ร้อยละ 0.8 ในขณะที่ตัวแปรอิสระตัวอื่นๆ ไม่สามารถเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของการปรับตัวของผู้ย้ายถิ่นได้อย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05