Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาความแตกต่างทางเพศในพฤติกรรมการช่วยเหลือ โดยใช้การขอความช่วยเหลือ 6 อย่าง จำแนกตามทักษะในการช่วยเหลือของแต่ละเพศ คือ พฤติกรรมที่เพศชายมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือมากกว่าได้แก่ การเปิดขวดแยม และการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอุปกรณ์ประปาภายในบ้าน พฤติกรรมที่เพศชายและเพศหญิงมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือพอๆ กันได้แก่ การตอบการถามเวลา และการตอบการถามสายรถประจำทาง พฤติกรรมที่เพศหญิงมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือมากกว่าได้แก่ การตอบ การสัมภาษณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของผงซักฟอก และการช่วยเลือกกระดาษห่อของขวัญ กลุ่มตัวอย่างของการทดลองแต่ละเรื่องสุ่มจากคนเดินถนนในกรุงเทพมหานคร ย่านรามคำแหง ลาดพร้าว สะพานควาย สะพานใหม่ บางแค และท่าพระจันทร์ เพศละ 60 คน รวม 120 คน ใช้ผู้ช่วยทดลองเพศละ 2 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. สำหรับพฤติกรรมที่เพศชายมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือมากกว่า ในการทดลองให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอุปกรณ์ประปาภายในบ้าน เพศชายให้ความช่วยเหลือมากกว่าเพศหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) ส่วนการทดลองเปิดขวดแยมพบว่าเพศชายให้ความช่วยเหลือไม่แตกต่างจากเพศหญิง ในการทดลองทั้งสองเรื่อง เพศหญิงได้รับความช่วยเหลือมากกว่าเพศชาย (p<.001) ในการทดลองสัมภาษณ์เกี่ยวกับอุปกรณ์ประปาภายในบ้าน เพศชายให้ความช่วยเหลือเพศหญิงมากกว่าช่วยเหลือเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติ (p<.01) ส่วนการทดลองเปิดขวดแยมพบว่า เพศชายให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งสองเพศไม่แตกต่างกัน ในการทดลองทั้งสองเรื่อง เพศหญิงให้ความช่วยเหลือเพศหญิงมากกว่าช่วยเหลือเพศชายอย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติ (p<.01) 2. สำหรับพฤติกรรมที่เพศชายและเพศหญิงมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือพอๆ กัน ในการทดลองทั้งสองเรื่อง เพศชายให้ความช่วยเหลือไม่แตกต่างจากเพศหญิง ในการทดลองถามสายรถประจำทาง เพศหญิงได้รับความช่วยเหลือมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ (p<.01) ส่วนการทดลองถามเวลาพบว่าเพศหญิงและเพศชายได้รับความช่วยเหลือไม่แตกต่างกัน ในการทดลองทั้งสองเรื่อง เพศชายให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งสองเพศไม่แตกต่างกัน และเพศหญิงให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งสองเพศไม่แตกต่างกัน 3. สำหรับพฤติกรรมที่เพศหญิงมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือมากกว่าเพศชาย ในการทดลองสัมภาษณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของผงซักฟอก เพศหญิงให้ความช่วยเหลือมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ (p<.001) ในการทดลองเลือกกระดาษห่อของขวัญ เพศหญิงให้ความช่วยเหลือมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ (p<.01) ในการทดลองทั้งสองเรื่อง เพศชายได้รับความช่วยเหลือไม่แตกต่างจากเพศหญิง เพศชายให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งสองเพศไม่แตกต่างกัน และเพศหญิงให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งสองเพศไม่แตกต่างกัน