Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้ เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของอารมณ์ชั่วขณะที่มีต่อความสุภาพของภาษาที่ใช้ในการขอร้องในสถานการณ์ง่ายและสถานการณ์ยากระหว่างผู้ที่มีการกำกับการแสดงออกของตนสูงและต่ำ ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาปริญญาตรีจำนวน 120 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นกลุ่มที่มีการกำกับการแสดงออกของตนสูงและต่ำ รูปแบบการทดลองเป็นแบบ 2 (อารมณ์ชั่วขณะทางบวกกับทางลบ) x 2 (สถานการณ์ในการขอร้องง่ายกับยาก) x 2 (การกำกับการแสดงออกของตนสูงกับต่ำ) โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมการทดลองในแต่ละเงื่อนไข จำนวน 30 คน ผู้เข้าร่วมการทดลองในแต่ละเงื่อนไขถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอารมณ์ชั่วขณะทางบวกหรือทางลบตามเงื่อนไขที่ได้รับแล้วตอบแบบสอบถามเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเขียนถ้อยคำที่จะใช้ขอร้องในสถานการณ์การขอร้องที่กำหนดให้ในแบบสอบถามทั้งสถานการณ์ง่ายและยาก ผลการวิจัยพบว่า 1. บุคคลที่มีอารมณ์ชั่วขณะทางลบและบุคคลที่มีอารมณ์ชั่วขณะทางบวกใช้ภาษาที่มีระดับความสุภาพในการขอร้องไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 2. ในสถานการณ์ยากบุคคลใช้ภาษาที่มีความสุภาพในการขอร้องมากกว่าในสถานการณ์ง่ายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 3. บุคคลที่มีการกำกับการแสดงออกของตนสูงใช้ภาษาที่มีความสุภาพในการขอร้องมากกว่าบุคคลที่มีการกำกับการแสดงออกของตนต่ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 4. บุคคลที่มีการกำกับการแสดงออกของตนสูงเมื่อมีอารมณ์ชั่วขณะทางลบหรือทางบวกใช้ภาษาที่มีความสุภาพในการขอร้องไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 5. บุคคลที่มีการกำกับการแสดงออกของตนต่ำเมื่อมีอารมณ์ชั่วขณะทางลบหรือทางบวกใช้ภาษาที่มีความสุภาพในการขอร้องไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ