Abstract:
ตำนานพญางูใหญ่ หรือ "พญานาค" เป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลต่อชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ร่องรอยความคิดเรื่องพญานาคปรากฏในวรรณกรรมปรัมปรา ความเชื่อ พิธีกรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วิถีชีวิต และจิตรกรรม การศึกษาครั้งนี้มุ่งศึกษาระบบความเชื่อพื้นบ้านเรื่องพญานาค ทางด้านเนื้อหาและบทบาทของความเชื่อตามโลกทัศน์ของชาวอีสานในอดีต ว่ายังคงอยู่ในสังคมปัจจุบันหรือคลี่คลายความเชื่อไปในลักษณะใด ตลอดจนการศึกษาบทบาทของความเชื่อเรื่องพญานาค ที่มีอิทธิพลในการดำรงชีวิตของชาวอีสานว่าเป็นในรูปแบบใด โดยศึกษาจากนิทานปรัมปราที่ว่าด้วยเรื่องพญานาค อันเป็นคติชนรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏเป็นตำนานแห่งราชอาณาจักรล้านช้าง และชุมชนอีสานแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ผู้ศึกษาได้นำแนวความคิดและหลักทฤษฎีมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ และสำนักการหน้าที่นิยมมาเป็นแนวทางการศึกษา เพื่ออธิบายถึงหน้าที่ทางสังคมของความเชื่อเรื่องพญานาคในปัจจุบันและการ ร่วมสมัย จากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ พบว่า ระบบสัญลักษณ์ของพญานาค หากแบ่งตามกฎเกณฑ์ตามบริบททางสังคมวัฒนธรรม อันเป็นร่องรอยความคิดแห่งอดีตที่ว่าด้วยเรื่อง "พญานาค" สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการด้วยกัน คือ 1. พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม 2. พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ 3. พญานาคเป็นลัทธิทางศาสนา ร่องรอยแห่งอดีตมักปรากฏเป็นนัยยะความหมายและเค้าโครง ที่ซ่อนอยู่ในนิทานปรัมปราแห่งโลกจินตนาการผสานความเป็นจริง ร่องรอยความคิดเรื่องพญานาคจึงมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิต กำหนดความคิดทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้งด้านสันทนาการ ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิพลอันเป็นพลังทางศาสนาอันเนื่องมาจาก "ร่องรอยความคิดเรื่องพญานาค" ทั้งหมดทั้งสิ้น สำหรับระเบียบวิธีการวิจัยใช้วิธีการค้นคว้าจากเอกสาร และการวิจัยทางมานุษยวิทยา ด้วยการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพญานาค ที่หมู่บ้านอาฮง ตำบลไคสี อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย โดยใช้วิธีการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์ผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ "พิธีบวงสรวงบูชาบั้งไฟพญานาค" อันได้แก่ พ่อพราหมณ์ จ้ำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุตั้งแต่ 60-80 ปีขึ้นไป ผลการศึกษาพบว่า การคลี่คลายร่องรอยความคิดเรื่องพญานาคจำแนกออกเป็นความเชื่อกับโลกและ จักรวาล ความเชื่อเรื่องพญานาค ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา และการแสดงออกของความเชื่อในรูปแบบของพิธีกรรม จากการประมวลความรู้และบูรณาการทางความคิดพบว่า พญานาคมักปรากฏอยู่ใน "ลัทธิความอุดมสมบูรณ์" ของสังคมวัฒนธรรมอีสาน ถูกผสานความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่องสวรรค์และนรก นอกจากนี้ยังพบว่า ระบบสัญลักษณ์ของพิธีกรรมมีความหมายที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่นุษย์มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ประการสำคัญที่สุดของพิธีกรรมนี้ ทำให้ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านได้มีโอกาสพบปะกันก่อให้เกิดความเป้นปึกแผ่นทางสังคม