Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงเหตุผลที่แนวคิดสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรชุมชนไม่มีผลในทางปฏิบัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนไว้แล้วก็ตาม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสารและอาศัยการรวบรวมข้อมูลประเด็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิชุมชนจากกรณีตัวอย่าง สมมติฐานของการศึกษามีว่า อิทธิพลของแนวคิดเรื่องการใช้อำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากร และอิทธิพลของแนวทางพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ส่งผลต่อการนำไปปฏิบัติ ในการวิเคราะห์ได้อาศัยกรอบแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิ แนวคิดการเพิ่มอำนาจ และแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง ประกอบกับข้อมูลทางวิชาการ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าสิทธิชุมชนถูกใช้ในทั้งสองระดับ คือ สิทธิชุมชนในระดับเข้มข้น เป็นสิทธิที่ใช้อ้างถึงการจัดการทรัพยากรที่ยึดโยงอยู่กับหน่วยพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ และจารีตประเพณี ดังปรากฏในการเคลื่อนไหวกรณีป่าชุมชน สิทธิชุมชนในระดับกว้าง เป็นสิทธิที่ใช้อ้างถึงในการเคลื่อนไหวต่อรองกับอำนาจรัฐและทุน โดยไม่ยึดติดกับหน่วยพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือจารีตประเพณี แต่เป็นอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนด ทิศทางการพัฒนา ดังในกรณีการต่อต้านของคนในท้องถิ่นจากการก่อสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การใช้สิทธิชุมชนทั้งสองระดับนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของการใช้อำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีการแข่งขันสูงในกระบวนการและการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ เช่น พื้นที่ป่า และการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีในกรณีโครงการขนาดใหญ่ จึงทำให้แนวคิดสิทธิชุมชนไม่ได้รับการสนับสนุนในทางปฏิบัติ อุปสรรคดังกล่าวเป็นทั้งปัญหาเชิงแนวคิดและการนำนโยบายไปปฏิบัติ เงื่อนไขในการปฏิบัติของสิทธิชุมชนขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการกระจายอำนาจ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม