Abstract:
การศึกษาประกอบด้วยการทดลองที่ 1 ศึกษาหาระดับความหนาแน่นในการเลี้ยงที่ทำให้ไก่เกิดความเครียด โดยใช้ไก่เนื้อเพศผู้สายพันธุ์ Cobb 500 จำนวน 1,080 ตัว สุ่มแบ่งเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 4 ซ้ำ เลี้ยงที่ระดับความหนาแน่น 9,13 และ18 ตัว/ตร.ม.ในโรงเรือนปิดเป็นระยะเวลา 45 วัน ด้วยอาหารที่ประกอบด้วยข้าวโพดและกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลัก พบว่าความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำหนักที่ขายได้ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. เพิ่มขึ้น (P<0.05) การเลี้ยงไก่ที่ความหนาแน่น 18 ตัว/ตร.ม. ทำให้น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และค่าดัชนีวัดประสิทธิภาพของยุโรปลดลง ขณะที่อัตราแลกเนื้อ และต้นทุนค่าอาหารที่ใช้ผลิตไก่ 1 กก. สูงขึ้นแต่ผลตอบแทนดีกว่า (P<0.05) ค่าสัดส่วนของม้ามและต่อมเบอร์ซ่าต่อน้ำหนักตัวไก่ มีแนวโน้มลดลงเมื่อความหนาแน่นในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น การเลี้ยงไก่ที่ความหนาแน่น 18 ตัว/ตร.ม. มีแนวโน้มให้ค่า H/L ratio และค่า MDA สูงกว่าการเลี้ยงไก่ที่ความหนาแน่น 9 ตัว/ตร.ม. การทดลองที่ 2 ศึกษาผลการเป็นสารต้านออกซิเดชั่นของขมิ้นชัน ต่อสถานภาพภูมิคุ้มกันและสมรรถภาพการเจริญเติบโตของไก่เนื้อในภาวะเครียด โดยใช้ไก่เนื้อเพศผู้สายพันธุ์ Cobb 500 จำนวน 2,300 ตัว สุ่มแบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 4 ซ้ำที่ความหนาแน่น 17ตัว/ตร.ม. ในโรงเรือนปิดเป็นเวลา 42 วัน กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารพื้นฐานเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2-4 ได้รับอาหารพื้นฐานที่เสริมขมิ้นชันที่ระดับ curcuminoid 90, 135 และ 180 ppm ในอาหาร ตามลำดับ และกลุ่มที่ 5 ได้รับอาหารพื้นฐานที่เสริมสารปฏิชีวนะอะวิลามัยซินที่ระดับ 2.5 ppm พบว่าการเสริมขมิ้นชันและสารปฏิชีวนะอะวิลามัยซิน มีแนวโน้มให้น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า ค่าดัชนีวัดประสิทธิภาพของยุโรปสูงกว่า อัตราแลกเนื้อต่ำกว่า กลุ่มที่ได้รับอาหารพื้นฐาน (P>0.05) การเสริมขมิ้นชันมีแนวโน้มทำให้ต้นทุนค่าอาหารที่ใช้ผลิตไก่ 1 กก. สูงกว่ากลุ่มควบคุม และกลุ่มที่เสริมสารปฏิชีวนะอะวิลามัยซิน ตามลำดับ (P>0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารพื้นฐานพบว่า การเสริมขมิ้นชันที่ระดับ curcuminoid 180 ppm หรือการเสริมปฏิชีวนะอะวิลามัยซินในอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มน้ำหนักไก่ที่ขายได้ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. (P>0.05) การเสริมขมิ้นชันที่ระดับ curcuminoid 90 และ135 ppm และการเสริมปฏิชีวนะอะวิลามัยซิน ช่วยลดค่า H/L ratio ที่อายุ 28 วัน (P<0.05) และการเสริมขมิ้นชันที่ระดับ curcuminoid 180 ppm ช่วยลดค่า H/L ratio ที่อายุ 42 วันได้ (P<0.05) การเสริมขมิ้นชันที่ระดับ curcuminoid 90 ppm มีแนวโน้มช่วยลด MDA ในพลาสม่าได้ดีกว่าสารปฏิชีวนะอะวิลามัยซิน (P>0.05) การเสริมขมิ้นชันหรือสารปฏิชีวนะอะวิลามัยซิน มีแนวโน้มช่วยลดการฝ่อตัวของอวัยวะที่สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยช่วยเพิ่มของค่าสัดส่วนต่อมเบอร์ซ่าและม้ามต่อน้ำหนักตัว แต่ไม่มีผลต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโรคนิวคาสเซิล การเสริมขมิ้นชันที่ระดับ curcuminoid 180 ppm ในอาหารมีแนวโน้มช่วยเพิ่มค่าดัชนีวัดค่าประสิทธิภาพการผลิตของยุโรป และน้ำหนักไก่ที่ขายได้ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม สูงกว่ากลุ่มควบคุม และเสริมปฏิชีวนะอะวิลามัยซิน จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า การเพิ่มความหนาแน่นในการเลี้ยงไก่เนื้อมีแนวโน้มทำให้ไก่เครียดและมีแนวโน้มในการเพิ่มขึ้นของ lipid peroxidation ในพลาสม่า เกิดภาวะการกดภูมิคุ้มกันหรือการฝ่อตัวของอวัยวะน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น และมีผลเสียต่อการเจริญเติบโต การเสริมขมิ้นชันเป็นสารต้านออกซิเดชั่นสามารถใช้ทดแทนสารปฎิชีวนะได้ มีแนวโน้มให้ผลดีต่อคุณลักษณะเจริญเติบโตและลดภาวะการกดการตอบสนองภูมิคุ้มกันของไก่เนื้อที่อยู่ในภาวะเครียดจากการเลี้ยงอย่างหนาแน่นได้