Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าปริมาณแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันบริเวณรอยผุที่จำลองขึ้นในห้องปฏิบัติการ ภายหลังการผนึกด้วยสารผนึกหลุมร่องฟันเรซินชนิดผสมฟลูออไรด์กับชนิดไม่ผสมฟลูออไรด์ เตรียมรอยผุจำลองขนาด 2x2 มม.ที่ผิวเคลือบฟันทางด้านข้างแก้มของฟันกรามน้อยจำนวน 60 ซี่ โดยแช่ฟันในสารละลายคาร์โบพอลที่ทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ (Carbopol demineralizing solution) ที่มีค่าความเป็นกรดด่างเท่ากับ 5.0 เป็นเวลา 9 วัน ฟันแต่ละซี่มีรอยผุจำลองจำนวน 2 รอบ แบ่งชิ้นตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม ในกลุ่มแรก (30ซี่) ใช้เดลทอน (Delton) และเดลทอนพลัส (Delton Plus) กลุ่มที่สอง (30 ซี่) ใช้เฮลิโอซีล (Helioseal) และเฮลิโอซีลเอฟ (Helioseal-F) ผนึกทับบริเวณรอยผุจำลอง แช่ฟันในน้ำลายเทียมเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นนำชิ้นตัวอย่างมาตัดในแนวขวางผ่านบริเวณรอยผุจำลอง ขัดผิวหน้าตัดให้เรียบมัน วัดความแข็งผิววิกเคอร์ (Vickers hardness) ที่ผิวหน้าตัดโดยจุดแรกห่างผิวฟัน 20 ไมโครเมตร และจุดต่อ ๆ ไปทุก 10 ไมโครเมตร จนครบ 12 จุด แปลงค่าความแข็งผิววิกเคอร์เป็นค่าความแข็งผิวนูป (Knoop hardness number) แล้วนำไปคำนวณหาค่าเฉลี่ยปริมาณแร่ธาตุที่สูญเสียเปรียบเทียบในกลุ่มเดียวกัน ผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณแร่ธาตุที่สูญเสีย +- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของกลุ่มแรก ซึ่งได้แก่ เดลทอนและเดลทอนพลัสมีค่าเท่ากับ 1423+-441 และ 1287+-421 ตามลำดับ กลุ่มที่สอง ได้แก่ เฮลิโอซีลและเฮลิ-โอซีลเอฟมีค่าเท่ากับ 1223+-284 และ 1165+-267 ตามลำดับ เมื่อนำมาทดสอบทางสถิติแพร์ทีเทส (Paired t-test) พบว่าค่าเฉลี่ยปริมาณแร่ธาตุที่สูญเสียของเดลทอนพลัสไม่แตกต่างจากเดลทอน และเฮลิโอซีลเอฟไม่แตกต่างจากเฮลิโอซีลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.05) โดยสรุปการใช้สารผนึกหลุมร่องฟันเรซินผสมฟลูออไรด์ชนิดเดลทอน- พลัสและเฮลิโอซีลเอฟผนึกทับรอยผุจำลอง ไม่ทำให้ปริมาณการสูญเสียแร่ธาตุที่ผิวฟันแตกต่างจากการผนึกด้วยเดลทอนและเฮลิโอซีลตามลำดับ