Abstract:
ในทางคลินิกทันตแพทย์สามารถพบฟันที่มีผนังคลองรากฟันบางจากฟันผุลุกลามอย่างมากก่อนหรือหลังรักษารากฟัน ผุบริเวณขอบครอบฟัน หรือการเสียเนื้อฟันจากขั้นตอนการรื้อเดือยเก่าออก ซึ่งเป็นปัญหาต่อการพยากรณ์ความสำเร็จภายหลังการรักษา ต่อมาได้มีการนำเสนอวิธีต่างๆ ในการบูรณะฟันที่มีสภาพดังกล่าวในรูปแบบกรณีศึกษาโดยยังไม่มีข้อมูลแสดงผลการรักษาระยะยาว หรือวิธีการบูรณะที่เหมาะสมที่สุด ดังนั้นการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการบูรณะที่เหมาะสม โดยการเปรียบเทียบการกระจายความเค้นในเนื้อฟันและวัสดุบูรณะ ทำการวิเคราะห์การกระจายความเค้นด้วยวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ของฟันตัดซี่หน้ากลางบนซึ่งมีผนังคลองรากบางด้วยโปรแกรม MSC/Nastran for Windows เมื่อบูรณะด้วยวิธีที่แตกต่างกัน 10 วิธี โดยพิจารณาปัจจัยหลักสามประการได้แก่ การเสริมหรือไม่เสริมผนังคลองรากฟัน ชนิดของวัสดุที่ใช้เสริมผนัง (เรซินคอมโพสิตหรือกลาสไอโอโนเมอร์ผสมโลหะเงิน) และชนิดของเดือย (เดือยโลหะผสมทองชนิดที่สาม เดือยโลหะผสมนิเกิลโครเมียม เดือยสเตนเลสสตีล และเดือยเส้นใยคาร์บอน) กำหนดให้วัสดุทุกชนิดในแบบจำลองมีคุณสมบัติเชิงกลเหมือนกันในทุกๆ ส่วนของวัสดุ คุณสมบัติเหมือนกันทุกทิศทาง คุณสมบัติยืดหยุ่นเชิงเส้น และวัสดุมีการเชื่อมกันและส่งผ่านความเค้นถึงกันอย่างสมบูรณ์ ผลการศึกษาพบว่าการเสริมผนังคลองรากฟันช่วยให้เกิดการกระจายความเค้นได้ดีกว่าการไม่เสริม การเสริมด้วยเรซินคอมโพสิตช่วยให้เกิดการกระจายความเค้นได้ดีกว่าการเสริมด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ผสมโลหะเงิน เดือยที่มีค่ามอดุลัสของสภาพยืดหยุ่นมากทำให้เกิดความเค้นสะสมสูงสุดมากกว่า แต่ทำให้เกิดความเค้นสะสมที่รากฟันส่วนต้นน้อยกว่าเดือยที่มีค่ามอดุลัสของสภาพยืดหยุ่นน้อย จากข้อสมมติของการทดลองข้างต้น การบูรณะโดยการเสริมผนังด้วยเรซินคอมโพสิตและใช้เดือยเส้นใยคาร์บอนน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการบูรณะฟันที่มีผนังคลองรากฟันบาง