Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองในห้องปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการแปรงด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ (ยาสีฟันมีฟลูออไรด์ 1,000 ส่วนในล้านส่วน) ต่อการปล่อยฟลูออไรด์ของวัสดุประเภทเรซินผสมฟลูออไรด์ชนิดต่างๆ ได้แก่ เรซินเคลือบหลุมและร่องฟันผสมฟลูออไรด์ (Helioseal F และ UltraSeal XT plus) คอมโพเมอร์ความหนืดต่ำ (Dyract flow) และคอมโพสิตความหนืดต่ำ (Tetric flow) และใช้เรซินเคลือบหลุมและร่องฟันที่ไม่ผสมฟลูออไรด์ (Helioseal) เป็นวัสดุควบคุม ทดลองโดยเตรียมชิ้นตัวอย่างของวัสดุทั้ง 5 ชนิดๆ ละ 10 ชิ้น นำชิ้นตัวอย่างแต่ละชิ้นมาแช่ในขวดพลาสติกบรรจุสารละลายน้ำลายเทียมปริมาณ 1 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส นาน 23 ชั่วโมง นำชิ้นตัวอย่างออกจากขวดและนำชิ้นตัวอย่างในกลุ่มทดลอง 5 ชิ้นแปรงด้วยสารละลายยาสีฟันและในกลุ่มควบคุม 5 ชิ้นแปรงด้วยสารละลายน้ำลายเทียม แล้วนำชิ้น ตัวอย่างมาแช่ในขวดพลาสติกบรรจุสารละลายน้ำลายเทียมปริมาณ 1 มิลลิลิตร ขวดใหม่ แปรงชิ้นตัวอย่างและเก็บสารละลายน้ำลายเทียมเพื่อวัดปริมาณฟลูออไรด์ซ้ำทุกวัน จนครบ 7 วัน เมื่อวิเคราะห์ผลการทดลองโดยใช้สถิติ Mann-Whitney U test พบว่าปริมาณรวมของฟลูออไรด์จากวัสดุทุกชนิดในกลุ่มที่แปรงด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ไม่แตกต่างจากปริมาณรวมของฟลูออไรด์จากวัสดุชนิดเดียวกันในกลุ่มที่แปรงโดยไม่ใช้ยาสีฟันอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฟลูออไรด์ที่ปล่อยจากวัสดุแต่ละชนิดโดยใช้สถิติ Kruskal-Wallis one-way ANOVA ร่วมกับสถิติ Mann-Whitney U test พบว่า Dyract flow ปล่อยฟลูออไรด์รวมได้มากกว่า Helioseal F (P<0.05), UltraSeal XT plus และ Tetric flow (P<0.01) Helioseal F ปล่อยฟลูออไรด์รวมได้มากกว่า UltraSeal XT plus และ Tetric flow (P<0.01) ส่วน UltraSeal XT plus ปล่อยฟลูออไรด์รวมได้ไม่แตกต่างจาก Tetric flow (P>0.05) สรุปได้ว่าการแปรงด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ไม่มีผลต่อการปล่อยฟลูออไรด์ของวัสดุประเภทเรซินผสมฟลูออไรด์คือ Helioseal F, UltraSeal XT plus, Dyract flow และ Tetric flow