Abstract:
ศึกษาปัญหากฎหมายในการให้ความคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม โดยพิจารณาถึงบทบาท สิทธิ หน้าที่ รวมทั้งความรับผิดของบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของรัฐในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจ ที่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมาก เช่นการลงทุนในกองทุนรวมนี้ โดยการกำกับดูแลกองทุนรวมสามารถกระทำได้ใน 2 ระดับดังนี้ 1. การกำกับควบคุมในแนวดิ่ง คือ การกำกับเชิงมหาชนที่รัฐจักต้องเข้าไปตรวยสอบโดยตรง โดยการกำหนดให้กองทุนรวมเป็นกิจการที่ต้องมีใบอนุญาต การกำหนดคุณสมบัติ ตลอดจนการตรวจสอบการดำเนินการภายหลังจากได้รับใบอนุญาต 2. การกำกับควบคุมในแนวนอน คือ การที่รัฐใช้กลไกทางกฎหมาย ในการกำหนดให้บุคคลฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบกันเองได้อย่างเปิดเผย และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายผ่านสิทธิหน้าที่ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการกำกับควบคุมโดยอ้อม การกำกับควบคุมทั้งในแนวดิ่งและแนวนอนจะต้องดำเนินควบคู่กันไป เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะต่างมีข้อดีและข้อจำกัดอยู่ในตัวเอง สำหรับการศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหากฎหมายเป็นไปในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทยและสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งศึกษาถึงข้อแตกต่างและข้อดีข้อเสีย โดยประมวลจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ โครงสร้าง รูปแบบ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ จากการศึกษาพบว่าแม้การกำกับควบคุมกองทุนรวมของไทยในปัจจุบัน จะได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ในการให้ความคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนโดยมีประเด็นปัญหาที่สำคัญดังนี้ 1) ปัญหาความเป็นนิติบุคคล 2) ปัญหาสถานะและสิทธิทางกฎหมายของผู้ถือหน่วยลงทุน ในการเข้าไปมีส่วนควบคุมกองทุนรวม 3) ปัญหาความเป็นอิสระในการตรวจสอบบริษัทจัดการโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ 4) ปัญหานิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้ถือหน่วยลงทุน 5) ปัญหาค่าธรรมเนียมที่ไม่เหมาะสมและเป็นธรรม 6) ปัญหาการควบคุมผู้ทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุน ท้ายที่สุดผู้วิจัยได้นำเสนอแนวทางแก้ไข โดยในระยะยาวการกำกับควบคุมกองทุนรวมของไทยควรมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกับ Investment Company ของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในระยะสั้นผู้วิจัยได้เสนอแนวทางแก้ไข เรื่องบทบาทและหน้าที่ของนิติบุคคลกองทุนรวม และรูปแบบการดำเนินการของผู้ดูแลผลประโยชน์ ตลอดจนเพิ่มสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้เพื่อยังผลให้เกิดความคุ้มครองผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน จนกว่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการกำกับควบคุมกองทุนรวมของไทยให้มีลักษณะเช่นเดียวกับ Investment Company Act of 1940 ของประเทศสหรัฐอเมริกา