Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคิดค้นวิธีการถ่ายทอดรูปร่างของหัวคอนดายล์จากภาพรังสีพานอรามิก มายังภาพรังสีเซฟาโลเมตริกด้านข้างและทดสอบความถูกต้องของวิธีการที่คิดค้นได้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาภาพหัวคอนดายล์ที่มองเห็นไม่ชัดเจนในภาพรังสีเซฟา-โลเมตริกด้านข้าง ทำให้การวิเคราะห์ภาพรังสีที่เกี่ยวข้องกับจุดสังเกตทางกายวิภาคบนหัวคอนดายล์ไม่สามารถกระทำได้อย่างแม่นยำ หรือมีความจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีเพิ่มเติม วิธีการถ่ายทอดภาพหัวคอนดายล์ที่คิดค้นขึ้นนี้อาศัยการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงซ้อนจากตัวอย่างจำนวน 100 คน เพื่อหาความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างภาพรังสีทั้งสอง โดยนำตัวแปรอิสระ 5 ตัวแปรได้แก่ ระยะระหว่างหัวคอนดายล์ ระยะระหว่างมุมขากรรไกรล่าง ระยะฟันหน้าล่างแนวดิ่งถึงโกนีออน มุมโกเนียล และ ความสูงเรมัส มาใช้ในการทำนายค่าระยะปรับแนวดิ่งสำหรับการถ่ายทอดภาพหัวคอนดายล์ สมการที่ได้คือ ระยะปรับแนวดิ่ง = -17.793 + 0.239ความสูงเรมัส + 0.0784 มุมโกเนียล ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจร้อยละ 67.9 เมื่อทดสอบความถูกต้องของสมการโดยใช้ตัวอย่างจำนวน 50 คน พบว่าระยะปรับแนวดิ่งที่ได้จากสมการและจากการซ้อนทับภาพหัวคอนดายล์ไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 มีส่วนต่างไม่เกิน 0.5 มิลลิเมตร ร้อยละ 60 และเมื่อคำนวณด้วยสูตรของดาห์ลเบิร์กพบว่ามีความผิดพลาดมาตรฐานจากการหาค่าระยะปรับแนวดิ่งด้วยการแทนค่าจากสมการคิดเป็น 0.64 มิลลิเมตร และสามารถลอกลายภาพหัวคอนดายล์ตั้งแต่จุดสูงสุดมายังขอบหลังเรมัสซึ่งอยู่ต่ำกว่าจุดอาร์ติคูลาเรย์ 1 เซนติเมตร จากภาพรังสีพานอรามิกมายังภาพรังสีเซฟาโลเมตริกด้านข้างได้ร้อยละ 76