Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับทัศนคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนเด็กกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสอบสวนเด็กในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พุทธศักราช 2542 เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสังคมในปัจจุบันมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินผลอย่างเป็นระบบโดยใช้เทคนิควิจัยทั้งในเชิงปริมาณ ได้แก่การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaires) จำนวน 220 ชุดกับกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา และการวิจัยทางมานุษยวิทยา (Anthropoligical field research) เพื่อรวบรวมข้อมูลในเชิงคุณภาพ โดยเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข่าวสำคัญ (Key Informants) จำนวน 10 คน สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้วจะนำมาวิเคราะห์โดยใช้วิธีทางสถิติ ได้แก่ การแจกแจงความถี่ (Frequency) การหาค่าร้อยละ การหาค่ามัชฌิมเลขคณิต (Mean) และทำการพิสูจน์สมมติฐานโดยพิจารณาจากความเป็นอิสระระหว่างตัวแปรโดยใช้การทดสอบค่า Chi-Square ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 และหาค่า GAMMA เพื่อดูทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวแปรทั้งสอง โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Statistical Package for the Social Sciences SPSS for Windows) และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรทั้งหมดได้แก่ สถานภาพการมีบุตร สายอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ ประสบการณ์ทำงานในสายอาชีพ ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ความรู้ความเข้าใจในเจตนารมณ์และข้อกำหนดของกฎหมาย ทัศนคติต่อความยุ่งยากและซับซ้อนของกฎหมายมีความสัมพันธ์กับทัศนคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนเด็กที่มีต่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้