Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ UNHCR กับการเข้ามามีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาถึงแรงผลักดันจากประชาคมระหว่างประเทศที่ส่งผลให้รัฐบาลไทยยินยอมให้ UNHCR เข้ามามีบทบาทร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งในการศึกษาเรื่องนี้ ได้อาศัยแนวคิดว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรอบของสหประชาชาติ จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาผู้หลบหนีภัยฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาแต่เพียงลำพัง โดยอนุญาตให้มีการจัดตั้งพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-พม่า และให้องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จนกระทั่ง ค.ศ. 1998 รัฐบาลไทยจึงได้ยินยอมให้ UNHCR เข้ามามีบทบาทร่วมกับรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีภัยฯ ทั้งนี้การที่ UNHCR สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้หลบหนีภัยฯ ตามแนวชายแดนไทย-พม่าได้ เป็นผลเนื่องมาจากแรงผลักดันจากประชาคมระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประชาคมระหว่างประเทศได้วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าปฏิบัติต่อผู้หลบหนีภัยฯ อย่างไร้มนุษยธรรม จึงได้เรียกร้องและผลักดันให้ UNHCR เข้ามามีบทบาทช่วยปกป้องคุ้มครองผู้หลบหนีภัยฯ ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็ยอมรับแรงผลักดันดังกล่าว ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยต้องการให้เจ้าหน้าที่ของ UNHCR เข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อจะได้เป็นสักขีพยานถึงความโปร่งใสชัดเจนในการดำเนินการต่อผู้หลบหนีภัยฯ และตระหนักว่ารัฐบาลไทยยังคงยึดหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศตามกฎบัตรสหประชาชาติ ประกอบกับได้เป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยยังมีพันธะต่อการปกป้องคุ้มครองผู้หลบหนีภัยฯ ตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อตกลงต่างๆ ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี