Abstract:
เปรียบเทียบปัญหา จำนวนผู้ป่วยที่เกิดปัญหาและความรุนแรงของปัญหาที่เกี่ยวกับยา ในผู้ป่วยนอกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังก่อนและหลังการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ถึง 14 มีนาคม 2547 ณ แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลลำปาง มีผู้ป่วยเข้าร่วมการวิจัยจำนวน 95 ราย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะพบกับเภสัชกรจำนวน 2 ครั้ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับระยะห่างของการนัดผู้ป่วยมาพบแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมโดยการค้นหา ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับยาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ผลการศึกษาพบว่า ในครั้งที่ 1 มีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับยาจำนวน 52 ราย เกิดปัญหาที่ เกี่ยวกับยาจำนวน 65 ปัญหา โดยประเภทของปัญหาที่เกี่ยวกับยาที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาผู้ป่วยไม่ได้รับยา และมีระดับความรุนแรงของปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการศึกษานี้อยู่ในระดับ 2 ภายหลังจากการให้การบริบาลทาง เภสัชกรรมให้แก่ผู้ป่วย ในครั้งที่ 2 มีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับยาลดลงเป็น 40 ราย มีจำนวนปัญหา 51 ปัญหา ซึ่งปัญหาที่พบมากที่สุดคือ ปัญหาผู้ป่วยไม่ได้รับยา ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการศึกษาครั้งนี้จะพบในระดับ 2
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยและจำนวนปัญหาที่พบในครั้งที่ 2 จะลดลงจากครั้งที่ 1 แต่พบว่าการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในครั้งนี้ ไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยและจำนวนของปัญหาที่เกี่ยวกับยาได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P > 0.05) รวมทั้งภายหลังจากการที่ผู้ป่วยได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมพบว่า ระดับความรุนแรงของปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05, n = 2) ผลการศึกษาในครั้งนี้ สรุปได้ว่า การบริบาลทางเภสัชกรรมให้แก่ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยเภสัชกร สามารถบ่งชี้ ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ นอกจากนี้ยังอาจจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและจำนวนปัญหาที่เกี่ยวกับยาของผู้ป่วย ด้วย