Abstract:
โรคตัวอ่อนเน่ายูโรเปียนที่เกิดในผึ้งพันธุ์ Apis mellifera แล้วแพร่มาถึงผึ้งโพรง Apis cerana พบระบาดทั่วไปในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ส่วนมากตัวอ่อนที่ตายด้วยโรคเน่ายูโรเปียนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Paenibacillus alvei (Cheshire and Cheyne, 1885) ซึ่งเป็นเชื้อที่ย้อมแกรมแล้วติดสี แกรมบวก (gram-positive rod) colony สามารถเคลื่อนที่ได้ และสร้าง spore รูปไข นอกจากนี้ยังมีเชื้อ Enterococcus faecalis, E. faecium และ Achromobacter Eurydice ร่วมในการเกิดโรค แต่พบว่าแบคทีเรีย 4 ชนิดนี้ถูกพบในรังที่เป็นโรคน้อยกว่าการพบเชื้อชนิด P. alvei การศึกษาตัวอ่อนผึ้งหลวง Apis dorsata จากรังที่ได้จากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสมุทรสงครามทุกรังพบตัวอ่อนที่อยู่ในสภาพปกติไม่มีการติดโรค เนื้อเยื่อที่ศึกษาประกอบด้วย เนื้อเยื่อระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปากถึงทวารและต่อมน้ำลาย ระบบแลกเปลี่ยนก๊าซ ซึ่งประกอบด้วย ช่องลม ท่อลมและถุงลม ระบบขับถ่ายซึ่งมีท่อมัลพิเกียนจำนวน 5-6 ท่อ ระบบไหลเวียนเลือด หัวใจ แอ่งรับเลือด และเม็ดเลือด 4 ชนิด ระบบประสาทประกอบด้วย สมองและปมประสาทบริเวณใต้หลอดอาหาร ที่ส่วนอกและส่วนท้อง รวม 13 ปม และจากการศึกษาผึ้งโพรงที่หน่วยวิจัยชีววิทยาของผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย จังหวัดสมุทรสงคราม พบว่ามีตัวอ่อนของผึ้งโพรง Apis cerana ตายด้วยลักษณะของการเกิดโรคเน่ายูโรเปียน คือ ลำตัวจะงอเป็นรูปตัว C สีลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทาและน้ำตาลในระยะต่อมา มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว จึงนำตัวอย่างตัวอ่อนที่ตายมาศึกษาโดยการแยกเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคออกมา พบว่าสามารถแยกเชื้อจุลินทรีย์ได้อย่างน้อย 5 ชนิด พบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรีย 3 ชนิด และเชื้อรา 2 ชนิด จึงนำเชื้อแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดมาศึกษาด้วยวิธีทางจุลชีววิทยาพบว่า แบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด อาจจะไม่ใช่แบคทีเรียชนิด P. alvei เนื่องจากลักษณะสำคัญของ P. alvei คือ โคโลนีสามารถเคลื่อนที่ได้แต่โคโลนีของแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิด ที่แยกได้ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ทั้งนี้การที่จะ identify ชนิดของแบคทีเรียจนถึง species ต้องการข้อมูลจากการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เมื่อศึกษาเนื้อเยื่อของตัวอ่อนผึ้งโพรงที่เป็นโรคตัวอ่อนเน่ายูโรเปียน พบว่า เซลล์และเนื้อเยื่อของระบบต่างๆ ทุกระบบถูกทำลาย ทางเดินอาหารถูกทำลายเหลือเพียงบางส่วนของถุงพักอาหาร ช่องลมและท่อลมถูกทำลาย บริเวณหัวใจและแอ่งรับเลือดสลายตัว สมองและปมประสาทส่วนต่างๆ ถูกทำลาย