Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการใส่กลับคืนที่ของฟันหน้าล่างหนูที่ปลายรากเปิด แบบทันทีที่ถอนหรือแช่ในสารละลายน้ำเกลือ สารละลายเอชบีเอสเอส และนม เป็นเวลา 30 นาที ต่อการกลับมายึดติดของเอ็นยึดปริทันต์ และการกลับมามีชีวิตของเนื้อเยื่อโพรงฟัน วัสดุและวิธีการ หนูแรทเพศผู้ อายุ 7-8 สัปดาห์ จัดแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม โดยกลุ่มที่หนึ่ง ถอนฟันหน้าล่างขวาและใส่กลับคืนที่ทันที กลุ่มที่สอง สามหรือสี่ ภายหลังถอนฟันนำฟันไปแช่ในสารละลายน้ำเกลือ สารละลายเอชบีเอสเอส และนม ตามลำดับ ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที ก่อนใส่กลับคืนเข้าที่ กลุ่มที่ห้า เป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ถอนฟันหนู เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 และ 3 เดือน เก็บขากรรไกรล่างหนูมาวิเคราะห์ทางภาพรังสีและทางจุลกายวิภาค เพื่อประเมินการกลับมายึดติดของเอ็นยึดปริทันต์ และการกลับมามีชีวิตของเนื้อเยื่อโพรงฟัน เมื่อเปรียบเทียบสี่กลุ่มแรกกับกลุ่มควบคุม ผลการศึกษา ฟันที่ถูกถอนและใส่กลับคืนที่ทันทีหรือฟันที่ถูกถอนและแช่ในสารละลายที่กำหนดก่อนใส่กลับคืนเข้าที่ เมื่อตรวจวัดด้วยภาพรังสี พบความหนาของ lamina dura ไม่สม่ำเสมอ ไม่ต่อเนื่อง และรากฟันมีการละลายเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ทดสอบทุกกลุ่มการทดลอง ที่ระยะเวลา 1 เดือน พบทุกกลุ่มการทดลองมีการละลายรากฟันแบบเริ่มต้นร้อยละร้อยของตัวอย่าง ส่วนที่ระยะเวลา 3 เดือน พบทุกกลุ่มการทดลองมีการละลายรากฟันแบบเริ่มต้นเฉลี่ยร้อยละ 73.2 การละลายรากฟันแบบรุนแรงเฉลี่ยร้อยละ 16.5 และการแทนที่ของกระดูกแทนส่วนรากฟันเฉลี่ยร้อยละ 9.2 โดยกลุ่มที่แช่ในนมมีการละลายรากฟันแบบเริ่มต้นและแบบรุนแรงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 82.4 และ 25 ของหนูที่ทำการทดลอง ตามลำดับ กลุ่มที่แช่ในสารละลายน้ำเกลือ มีการแทนที่ของกระดูกแทนส่วนรากฟันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 15 ของหนูที่ทำการทดลอง เมื่อตรวจวิเคราะห์ทางจุลพยาธิวิทยา พบการกลับมายึดติดของเอ็นยึดปริทันต์ที่บริเวณเคลือบรากฟันในกลุ่มการทดลองคิดเป็นร้อยละร้อย ส่วนในเนื้อเยื่อโพรงฟันพบมีการอักเสบอย่างรุนแรงและการตายของเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะบริเวณปลายราก เนื้อฟันและเคลือบรากฟันมีการละลายตัวและมีการสร้างกระดูกแทนที่ในที่สุด คิดเป็นร้อยละร้อยของทุกกลุ่มการทดลอง สรุป การถอนฟันและใส่ฟันกลับคืนที่ทันที หรือแช่ในสารละลายน้ำเกลือ สารละลายเอชบีเอสเอสและนม เป็นเวลา 30 นาที ก่อนใส่กลับคืนที่ในหนูแรท พบมีการละลายของรากฟันและการสร้างกระดูกแทนที่รากฟัน คิดเป็นร้อยละร้อยในทุกกลุ่มการทดลอง เมื่อทำการทดลองเป็นระยะเวลาสามเดือน ดังนั้นการรักษาคลองรากฟันภายหลังการใส่กลับคืนที่ จึงเป็นวิธีการที่ควรทำเพื่อป้องกันการเกิดพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อโพรงฟันและการละลายของรากฟัน