Abstract:
ศึกษาสารเชิงซ้อนอินคลูชันระหว่างเบตาไซโคลเด็กซ์ทรินกับไวตามินที่ไม่ละลายในน้ำ (ไวตามินเคสาม, อี) ด้วยวิธีทางผลึกศาสตร์โดยใช้รังสีเอกซ์ วิธีการนี้ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ การตกผลึก การเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์และการประมวลผลข้อมูล แม้ว่าได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการตกผลึกสารเชิงซ้อนเบตาไซโคลเด็กซ์ทริน-ไวตามินด้วยตัวทำละลายต่างๆ กันแล้วก็ตาม แต่ล้มเหลวที่จะได้ผลึก ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากการไม่ละลายน้ำของไวตามิน เป็นผลให้เกิดการตกตะกอนหรือการแขวนลอยของไวตามินในการตกผลึก นอกจากนี้ไวตามินเหล่านี้อาจจะมีขนาดใหญ่และไม่พอดีกับโพรงของเบตาไซโคลเด็กซ์ทริน ความพยายามอื่นๆ ที่จะตกผลึกแกมมาไซโคลเด็กซ์ทริน-ไวตามินเคสามก็ได้ทำด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะได้ผลึกสีน้ำตาล (ซึ่งอาจจะเป็นผลึกของสารเชิงซ้อนที่ต้องการ) แต่คุณภาพที่ไม่ดีพอของผลึกให้ข้อมูลการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ที่ไม่ดีพอที่จะนำไปใช้หาโครงสร้างผลึก อย่างไรก็ตาม การตกผลึกเบตาไซโคลเด็กซ์ทริน-ไวตามินเคสามในตัวทำละลายผสมไดเมทิลซัลฟอกไซต์/น้ำ (27:73 ร้อยละโดยปริมาตร) ให้โครงสร้างผลึกใหม่ของเสารเชิงซ้อนอินคลูชันเบตาไซโคลเด็กซ์ทริน-ไดเมทิลซัลฟอกไซด์ซึ่งทำให้เราสามารถทำงานวิจัยทางผลึกศาสตร์ที่สมบูรณ์ได้ การวิเคราะห์ด้วยรังสีเอกซ์เปิดเผยโครงสร้างกลมของเบตาไซโคลเด็กซ์เทรินถูกทำให้เสถียร โดยพันธะไฮโดรเจน (O3(n)…O2(n+1) ระหว่างหน่วยกลูโคสที่อยู่ติดกัน ไดเมทิลซัลฟอกไซด์วางตัวอยู่ในโพรงของเบตาไซโคลเด็กซ์ทรินในลักษณะที่ว่าอะตอม s เคลื่อนออกไปจากศูนย์กลางของระนาบ 04 ไปยังหลายด้าน 06 ของเบตาไซโคลเด็กซ์ทรินประมาณ 0.9 A และ พันธะ C-S หนึ่งทำมุม 13.6 ํ กับแกนของโมเลกุลเบตาโคลเด็กซ์ทริน ไดเมทิลซัลฟอกไซด์อยู่ในตำแหน่งนี้ได้โดยการสร้างพันธะไฮโดรเจนกับน้ำ W3 และ หมู่ O31-H น้ำจำนวน 7.35 โมเลกุลกระจายตัวอยู่ใน 13 ตำแหน่ง ทั้งที่อยู่ภายใน (W1-W4) และภายนอก (W5-W13) โพรงของเบตาไซโคลเด็กซ์ทริน น้ำเป็นตัวกลางในการสร้างพันธะไฮโดรเจนซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากต่อเสถียรภาพของโครงสร้างผลึก