Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างเยอรมนี และฝรั่งเศส ในการผลักดันให้สนธิสัญญามาสทริชท์ประสบความสำเร็จ และสามารถเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1993 ได้ในที่สุดความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการนี้ เกิดขึ้นจากจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการรักษา และเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติของตน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปในช่วงปลาย ทศวรรษ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 การศึกษาในที่นี้ มุ่งเน้นที่จะแสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางอุปสรรคนานาประการที่เกิดขึ้น ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศนี้นับเป็น "แกนหลัก" ที่สำคัญที่สุดของกระบวนการการผลักดันสนธิสัญญามาสทริชท์ที่ช่วยให้กระบวน การเจรจาสนธิสัญญาฉบับนี้ลุล่วงไปได้ในที่สุด แม้ว่าผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายคาดหวังจากสนธิสัญญาฉบับนี้ที่มีทั้งผล ประโยชน์ที่สอดคล้อง และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันก็ตาม ผลของการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันในยุโรปในช่วง ค.ศ. 1989-1992 เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อบูรณาการยุโรป และต่อการผลักดันสนธิสัญญามาสทริชท์ ทั้งนี้ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งระหว่างเยอรมนี และฝรั่งเศส กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการการผลักดันดังกล่าวประสบผลสำเร็จ โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดดังกล่าว เกิดจากการที่ทั้งฝ่ายตระหนักว่า ความร่วมมือร่วมกัน และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการปกป้อง และเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติของตนโดยผ่านทางสนธิสัญญามาสทริชท์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในที่สุดสนธิสัญญามาสทริชท์จะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1993 แต่ในอนาคต สหภาพยุโรปภายใต้สนธิสัญญามาสทริชท์ อาจต้องเผชิญปัญหาอีกหลายประการที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพ และความร่วมมือภายในกลุ่ม ทั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือปัญหาความรู้สึก "ชาตินิยม" ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสมาชิกของสหภาพยุโรปในปัจจุบันนั่นเอง