Abstract:
ศึกษาการใฝ่รู้ของนักศึกษาพยาบาลและหาความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยส่วนบุคคล ทัศนคติต่อวิชาชีพ รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษา การดูแลนักศึกษาของอาจารย์ และบรรยากาศการเรียนรู้ กับการใฝ่รู้ของนักศึกษาพยาบาล และศึกษาปัจจัยที่ร่วมกันพยากรณ์การใฝ่รู้ของ นักศึกษาพยาบาล กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาพยาบาลจำนวน 390 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดทัศนคติต่อวิชาชีพการพยาบาล แบบสอบถามรูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษา แบบประเมินการดูแลนักศึกษาของอาจารย์ แบบสอบถามบรรยากาศการเรียนรู้ และแบบสอบถามการใฝ่รู้ ซึ่งตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและมีค่าความเที่ยงเท่ากับ .85, .82, .92, .93 และ .91 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติไคสแควร์ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. ชั้นปี ทัศนคติต่อวิชาชีพ รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษา การดูแลนักศึกษาของอาจารย์ และบรรยากาศการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใฝ่รู้ของ นักศึกษาพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ปัจจัยที่ร่วมกันพยากรณ์การใฝ่รู้ของนักศึกษาพยาบาลได้อย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติที่ระดับ .05 ประกอบด้วย 8 ตัวแปร โดยสามารถร่วมกันพยากรณ์พยากรณ์การใฝ่รู้ของนักศึกษาพยาบาลได้ 58.8% (R[superscript 2] =.588) ได้แก่
รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษากลุ่มวิชาชีพ บรรยากาศการเรียนรู้ด้านบรรยากาศในชั้นเรียน บรรยากาศการเรียนรู้ด้านกฎระเบียบของสถาบัน การดูแลนักศึกษาของอาจารย์ด้านการมีความยึดมั่นผูกพันต่อวิชาชีพ รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษากลุ่มก้าวหน้า รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษากลุ่มวิชาการ การดูแลนักศึกษาของอาจารย์ด้านการมีสมรรถนะทางวิชาชีพ และทัศนคติต่อวิชาชีพด้านลักษณะวิชาชีพ สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐานดังนี้ การใฝ่รู้ของนักศึกษาพยาบาล = .255(รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษากลุ่มวิชาชีพ)+.203(บรรยากาศการเรียนรู้ ด้านบรรยากาศในชั้นเรียน) + .195(บรรยากาศการเรียนรู้ด้านกฎระเบียบของสถาบัน) + .184(การดูแลนักศึกษาของอาจารย์ด้านการมีความยึดมั่นผูกพันต่อวิชาชีพ) + .127(รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษากลุ่มก้าวหน้า) + .149(รูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษากลุ่มวิชาการ) - .117(การดูแลนักศึกษาของอาจารย์ด้านการมีสมรรถนะทางวิชาชีพ) +. 083(ทัศนคติต่อวิชาชีพด้านลักษณะวิชาชีพ)