Abstract:
พุทธศาสนามีหลักคำสอนสำคัญที่เป็นแก่นคือคำสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ ความเข้าใจในรายละเอียดและความสำคัญของทุกข์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ จากประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนา พบว่ามีคำอธิบายเรื่องทุกข์สองแบบ แบบที่หนึ่งคือการอธิบายในเชิงคัมภีร์ แบบที่สองคือการอธิบายโดยการใช้ข้อมูลที่ปรากฏในธรรมชาติมาเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า ทุกข์ที่พุทธศาสนาสอนเป็นอย่างไร การอธิบายทุกข์ในเชิงคัมภีร์มีข้อดี ตรงที่ทำให้เห็นภาพรวมในเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับคำสอนเรื่องทุกข์ในพุทธศาสนา แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ขาดพลังในการชักนำให้เรารู้สึกว่าทุกข์เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตที่เราต้องหาทางเอาชนะ การอธิบายด้วยการใช้ตัวอย่างในธรรมชาติ มีข้อดีตรงที่ทำให้เรารู้สึกว่าทุกข์เป็นเรื่องของชีวิตและโลกรอบตัว แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ไม่ให้ภาพรวมเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับคำสอนเรื่องทุกข์ที่พุทธศาสนาสอน ผู้วิจัยเชื่อว่า เท่าที่เป็นมาในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เรามีคำอธิบายในเชิงคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้งเพียงพอแล้ว สิ่งที่เราขาดคือการอธิบายโดยการใช้ตัวอย่างในธรรมชาติ ลัทธิดาร์วินถูกนำเข้ามาในงานวิจัยนี้ ในฐานะเครื่องมือสำหรับใช้ส่องให้เห็นรายละเอียดที่ซับซ้อนและลึกซึ้งของทุกข์ในบางแง่มุมที่ไม่ปรากฏตรงๆ ในคำอธิบายเชิงคัมภีร์ของพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาจากมุมมองของลัทธิดาร์วิน ชีวิตเป็นทุกข์ใน 2 ความหมายหลักๆ ประการแรก ชีวิตมีฐานะเป็นอินทรียภาพที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ประการที่สอง ชีวิตเป็นเครื่องมือที่ยีนใช้สำหรับสืบทอดการดำรงอยู่ของกระแสแห่งยีน ในฐานะเครื่องมือของยีน ชีวิตต้องแบกรับภาระในทางชีววิทยาจำนวนมากอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ การต้องแบกรับภาระนี้คือทุกข์ จะอย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด นักคิดในลัทธิดาร์วินบางคนเชื่อว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองจนถึงระดับที่สามารถสลัดตัวเองให้พ้นออกมาจากการครอบงำของธรรมชาติในทางชีววิทยา ซึ่งก็แปลว่าเมื่อมนุษย์พัฒนาถึงจุดนั้น มนุษย์จะสามารถเอาชนะทุกข์ซึ่งถูกมอบมาให้พร้อมกับการเกิดได้ แนวคิดนี้สอดคล้องกับความเชื่อของพุทธศาสนาที่ว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว ทุกข์ของชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสามารถเอาชนะได้