Abstract:
การรักษาโรคเท้าช้างในปัจจุบัน คือการรักษาโดยใช้ยาไดเอทิลคาร์บามาซีน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำลายไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดสูง อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการทำลายพยาธิตัวแก่ยังจำกัด จึงไม่สาทารถรักษาโรคให้หายขาดได้ จำเป็นต้องมีการรักษาซ้ำนานหลายปี ปัญหาที่สำคัญของการใช้ยาไดเอทิลคาร์บามาซีนคือ การเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษา ซึ่งกลไกการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษานี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากแอนติเจนของพยาธิหรือแอนติเจนของแบคทีเรียโวลบาเชียที่ปลดปล่อยออกมาจากตัวพยาธิภายหลังการรักษา การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การให้ยาด็อกซีซัยคลินร่วมกับยามาตรฐานเป็นเวลา 3-8 สัปดาห์ให้ผลดีกว่าการรักษาโรคเท้าช้างด้วยยามาตรฐานอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาได้ การศึกษานี้จึงศึกษาการรักษาโรคเท้าช้างด้วยยาไดเอทิลคาร์บามาซีน ร่วมกับยาด็อกซีซัยคลินเพียงครั้งเดียวในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษา โดยศึกษาในประชากรจากจังหวัดตาก จำนวน44 ราย ประชากรจำนวน 25 ราย ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนขนาด 6 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ร่วมกับยาหลอก และประชากรอีก 19 รายได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนขนาด 6 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ร่วมกับยาด็อกซีซัยคลินขนาด 200 มก. ผลการรักษาพบว่า ระดับไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือดลดลงจนไม่สามารถตรวจพบได้ภายใน 24 ชม. หลังการรักษา ปฏิกิริยาหลังการรักษาพบได้น้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาด็อกซีซัยคลิน (32%) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาหลอก (44%) ปฏิกิริยาหลังการรักษาที่รุนแรงพบเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาหลอกเท่านั้น (3 รายจาก 25 ราย) ระดับของไซโตไคน์อินเตอร์ลิวคิน 6 และทูเมอร์เนโครซิสแฟกเตอร์แอลฟาในพลาสมาภายหลังการรักษาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและสูงที่สุดที่ 24 ชม. หลังการรักษา ระดับของอินเตอร์ลิวคิน 6 สัมพันธ์กับความรุนแรงของปฏิกิริยาหลังการรักษา โดยที่ระดับของอินเตอร์ลิวคิน 6 ในกลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาด็อกซีซัยคลินต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาหลอกในทุกช่วงเวลาที่ติดตามการรักษา นอกจากนี้พบว่าระดับของแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในกลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาด็อกซีซัยคลินต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับยาไดเอทิลคาร์บามาซีนร่วมกับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 6 เดือนหลังการรักษา กล่าวโดยสรุป การให้ยาด็อกซีซัยคลินร่วมด้วยในการรักษาโรคเท้าช้างให้มีผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรักษาน้อยกว่าการให้การรักษาโดยยามาตรฐานเพียงอย่างเดียว