Abstract:
งานวิจัยนี้พัฒนาเทคนิคที่ใช้ในการสกัดโลหะเพื่อการวิเคราะห์โลหะในตัวอย่างเนื้อปลา โดยเสนอวิธีการสกัดโลหะแดคเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสีในสารละลายตัวอย่างด้วยเทคนิคการสกัดด้วยเฟสของแข็ง โดยใช้ถ่านกัมมันต์ร่วมกับแอมโมเนียม ไพโรริดีนไดไทโอคาร์บาเมต และวิเคราะห์หาปริมาณโลหะด้วยเทคนิคอะตอมมิกแอบซอร์บชันสเปกโทรเมตรี โดยศึกษาวีการสกัดสองวิธีคือ การสกัดโลหะด้วยถ่านกัมมันต์ที่เคลือบด้วยแอมโมเนียมไพโรริดีนไดไทโอคาร์บาเมต และการสกัดสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะและแอมโมเนียมไพโรริดีนไดไทโอคาร์บาเมตด้วยถ่านกัมมันต์ ศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการสกัดโลหะโดยทดสอบกับสารละลายมาตรฐานก่อนจะนำไปใช้กับตัวอย่างเนื้อปลา เมื่อนำวิธีการสกัดโลหะทั้ง 2 วิธีมาใช้วิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อปลาพบว่า การสกัดโลหะโดยการทำให้โลหะเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกับแอมโมเนียมไพโรริดีนไดไทโอคาร์บาเมต ก่อนจะผ่านคอลัมน์บรรจุถ่านกัมมันต์ ให้ผลดีกว่า จึงได้พัฒนาวิธีการนี้ต่อไปโดยศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่างๆ เช่น อัตราการไหล ปริมาณของแอมโมเนียมไพโรริดีนไดไทโอคาร์บาเมต และค่าความเป็นกรด-เบส ต่อการสกัดโลหะ ตรวจสอบการนำไปใช้ได้ของวิธีด้วยการเติมโลหะแคดเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และ สังกะสี ชนิดละ 1 ไมโครกรัม ลงในเนื้อปลา 1 กรัม ก่อนจะวิเคราะห์ปริมาณโลหะด้วยวิธีการที่นำเสนอ ผลการทดลองพบว่าในการวิเคราะห์โลหะแคดเมียม ทองแดง นิกเกิล ตะกั่ว และสังกะสี จะมีความเที่ยงในการวิเคราะห์ (%RSD) ในช่วง 0.6-15.3% มีความแม่นในการวิเคราะห์ (%Recovery) อยู่ในช่วง 82-101% และขีดจำกัดต่ำสุดในการวิเคราะห์อยู่ในช่วง 10.1-13.4 ไมโครกรัม/กก. เนื้อปลา