Abstract:
ปัญหาสุขภาพเท้ามักถูกละเลยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตลอดจนอาจเป็นสาเหตุของการลื่นล้มได้ ศึกษาอุบัติการณ์ความผิดปกติของเท้าและสมรรถภาพในการเดินของ ผู้สูงอายุ หาความสัมพันธ์ของความผิดปกติกับปัจจัยต่างๆ และชนิดของรองเท้าที่ใช้ หาความสัมพันธ์ของปัจจัยเกี่ยวข้องกับการล้ม คำนวณหาขนาด/มิติของเท้าผู้สูงอายุเพื่อใช้เป็นหุ่นในการทำรองเท้าให้ผู้สูงอายุ การวิจัยเชิงพรรณนา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งรวบรวมอาสาสมัครผู้สูงอายุชาวไทยสุขภาพดี อายุ 60-80 ปี ช่วยเหลือตนเองได้ สัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป ปัญหาเท้า การเดิน การล้ม การใช้รองเท้า ตรวจร่างกาย ตรวจเท้า ตรวจรองเท้า พิมพ์ฝ่าเท้า วัดขนาด/มิติเท้า ประเมินสมรรถภาพการเดินด้วย Timed Get Up and Go Test และคำนวณความเร็วในการเดิน 6 เมตรมีอาสาสมัครทั้งสิ้น 213 คน เป็นชาย 108 คน หญิง 105 คน อายุเฉลี่ย 68.6+-5.4 ปี ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายใกล้เคียงกัน – 24.65 กก./ตร.ม. ผู้สูงอายุชาย 66% หญิง 50% เกษียณอยู่กับบ้าน และ 23% ของผู้สูงอายุหญิงยังทำงานบ้าน ผู้สูงอายุเพศหญิงมีปัญหาโรคข้อเข้าเสื่อมมากกว่า (34.3% : 21.3%, p = 0.046) และมีปัญหาหลังเสื่อมมากกว่า (30.5% : 3.7%, p = 0.00) พบอาการปวดเท้า 14% โดยพบในเพศชาย 5.56 % และในเพศหญิง 22% สาเหตุ 1 ใน 3 เกิดจากเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ 1 ใน 3 เกิดจาก Hallux valgus 1 ใน 5 เกิดจากภาวะหนังเท้าหนา (callus) และภาวะ Metatarsalgia เพศหญิงมีอาการปวดเท้ามากกว่าเพศชาย 4 เท่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งสองเพศสวมรองเท้าคับ ผู้หญิงที่สวมรองเท้าหุ้มส้น และรองเท้าคับมีปัญหาปวดเท้ามากที่สุดคือ 38.5% และ 35.5% ตามลำดับ พบความผิดปกติของ protective sensation ประมาณ 20% ของผู้สูงอายุกว่า 85% ของผู้สูงอายุมีเท้าผิดรูป มากที่สุดคือ Hallux valgus ชายหญิงเท่ากันประมาณ 45% รองลงมาคือ Mallet toe พบในเพศชายมากกว่าหญิง 2 เท่า (58% : 31%) โดย Hallux valgus ในเพศหญิงจะมีความรุนแรงกว่า ปวดมากกว่า ลักษณะอุ้งเท้าแบนพบในผู้สูงอายุหญิงมากกว่า (42% : 32%) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอุ้งเท้าแบนกับภาวะเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ Hallux valgus ใน 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้สูงอายุหญิงล้ม 29.5% ผู้สูงอายุชายล้ม 12.9% (p = 0.004) กลุ่มล้มมีอายุเฉลี่ยสูงกว่า มีปัญหาเข่าเสื่อมมากกว่า (p = 0.02) มีปัญหาปวดเท้ามากกว่า (p = 0.02) มีความผิดปกติของ protective sensation มากกว่า และมีความสัมพันธ์กับการใช้รองเท้าส้นสูง (p = 0.036) มากกว่ากลุ่มไม่ล้ม ส่วนการทดสอบ Timed Get Up & Go และความเร็วในการเดิน ไม่มีความแตกต่างกัน ได้สูตรคำนวณจากการวัดขนาดเท้าดังนี้ สำหรับผู้สูงอายุหญิง Ball width = 2.863 + 0.279 (Foot length) และผู้สูงอายุชาย Ball width = 2.487 + 0.311 (Foot length) ซึ่งนำมาเป็นต้นแบบการทำหุ่นรองเท้าให้ผู้สูงอายุชายไทย ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพเท้าเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย และการใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในเพศหญิงจะมีความเสื่อมมากกว่า มีอาการปวดมากกว่า และอุบัติการณ์การล้มสูงกว่าเพศชาย ผู้สูงอายุควรได้รับความรู้ในการดูแลเท้าและเลือกรองเท้าให้เหมาะสมมากขึ้น