Abstract:
การสำรวจทัศนคติในการบริโภคน้ำนมสดเป็นเครื่องดื่มประจำวันและการประเมินปริมาณการบริโภคน้ำนมสดด้วยวิธีสุ่มแบบสอบถาม และการวิเคราะห์ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วในตัวอย่างน้ำนมสดด้วยวิธีอะตอมมิคแอบซอพชั่นสเปคโตรเมตรี พบว่า ปริมาณน้ำนมสดที่กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามถึงพอใจในการเลือกดื่มแต่ละครั้งมีค่าระหว่าง 200 ถึง 400 มิลลิลิตรและความถี่ในการบริโภคสัปดาห์ละ 4-7 ครั้ง ปริมาณแคดเมียมในตัวอย่างน้ำนมสดมีค่าระหว่าง 1.12+-0.05 ถึง 5.01+-0.35 ไมโครกรัมต่อลิตรและปริมาณตะกั่วมีค่าระหว่าง 7.19+-0.32 ถึง 26.34+-1.68 ไมโครกรัมต่อลิตร การประเมินปริมาณแคดเมียมที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการดื่มตัวอย่างน้ำนมสด พบว่า ผู้บริโภคอาจได้รับแคดเมียมจากการดื่มแต่ละครั้งมีค่าประมาณ 0.22 ถึง 2.00 ไมโครกรัม และปริมาณที่อาจได้รับแต่ละสัปดาห์ประมาณ 0.90 ถึง 14.03 ไมโครกรัม การประเมินความเสี่ยงต่อตะกั่วที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการดื่มตัวอย่างน้ำนมสด พบว่าผู้บริโภคอาจได้รับตะกั่วจากการดื่มน้ำนมสดแต่ละครั้งมีค่าประมาณ 1.44 ถึง 10.54 ไมโครกรัม และปริมาณที่อาจได้รับแต่ละสัปดาห์ประมาณ 5.75 ถึง 73.75 ไมโครกรัม เมื่อนำค่าที่ประเมินได้เปรียบเทียบกับค่าที่ยอมรับได้ของมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 กำหนดให้มีตะกั่วปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมหรือ 1.032 มิลลิกรัมต่อลิตร และไม่พบมีการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับแคดเมียมในมาตรฐานทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ จึงสรุปได้เพียงว่าผลิตภัณฑ์ตัวอย่างน้ำนมสดทั้งหมดมีปริมาณตะกั่วต่ำกว่าค่ามาตรฐานและมีความปลอดภัยในการนำมาบริโภคเป็นเครื่องดื่มประจำวัน