Abstract:
โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis) เกิดจากหนอนพยาธิ 2 ชนิดหลักคือ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคเท้าช้างเป็นโรคทางปรสิตที่ควรกำจัดให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคเท้าช้างคือการจัดให้มีโปรแกรมการรักษาแบบหมู่ โดยให้ยา diethylcarbamazine (DEC) ร่วมกับยา albendazole แก่ประชากรในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง และการควบคุมพยาธิภาวะ ปัญหาที่สำคัญของการรักษาโรคเท้าช้างคือ การใช้ยา DEC ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรักษา กลไกของการเกิดพยาธิสภาพของโรคและการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดได้ จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการกำจัดโรคเท้าช้าง การศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยาเชิงลึกของโรคเท้าช้างจะช่วยให้การกำจัดโรคสำเร็จลงได้อย่างยั่งยืน การศึกษานี้ได้สำรวจโรคเท้าช้างในประชากรทั้งหมด 7,898 ราย (อายุ 22.63+-16.56; 1-80 ปี) ที่อาศัยอยู่ใน 6 อำเภอซึ่งเป็นแหล่งชุกชุมของโรคเท้าช้าง ได้แก่ อำเภอแม่สอด พบพระ ท่าสองยาง แม่ระมาด อุ้มผาง ในจังหวัดตากและอำเภอสังขละบุรีในจังหวัดกาญจนบุรี พบโรคเท้าช้างในประชากรจำนวน 49 ราย คิดเป็นอัตราความชุก 0.62% โดยเป็นเพศชาย 36 ราย (73.5%) (อายุ 32.22+-17.47; 4-80 ปี) และเพศหญิง 13 ราย (26.5%) (อายุ 33.54+-16.28; 13-60 ปี) และจากการติดตามการรักษาในประชากรจำนวน 65 ราย พบการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษาในประชากรจำนวน 17 ราย (26.2%) จากการศึกษารูปแบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของโรคเท้าช้าง พบระดับไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ interleukin-6 (IL-6) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-alpha) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่มีพยาธิสภาพเรื้อรัง (โครงการย่อยที่ 1) และได้ทบทวนวรรณกรรมตลอดจนค้นหาจากฐานข้อมูลได้ยีน peptidoglycan-associated lipoprotein (pal) และ heat shock protein 60 (hsp60) ที่น่าสนใจเพื่อโคลนและสร้างโปรตีนที่ใช้ศึกษาทางอิมมูนวิทยา (โครงการย่อยที่ 2) ตลอดจนได้ยีนเป้าหมาย (toll-like receptor 2; tlr-2) ในศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม (โครงการย่อยที่ 3) โครงการ “การศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยาเชิงลึกของโรคเท้าช้าง : มุ่งสู่การป้องกันภาวะเท้าช้างและการกำจัดโรคอย่างถาวร” ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการย่อยนี้เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2550-2552) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาระดับไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านการอักเสบและระดับแอนติบอดีต่อแบคทีเรียโวลบาเชียในผู้ป่วย นอกจากนี้ได้ศึกษาโปรตีนทั้งหมดของพยาธิโรคเท้าช้างและแบคทีเรียโวลบาเชียเพื่อหาโปรตีนเป้าหมายที่สำคัญต่อการเกิดพยาธิสภาพของโรคเท้าช้างต่อไป รวมทั้งได้คัดเลือกยีนในระบบภูมิคุ้มกันที่สัมพันธ์กับการเกิดพยาธิสภาพของโรค และการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษาของโรคเท้าช้าง เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม และพัฒนาตัวติดตามเพื่อพยากรณ์การเกิดภาวะเท้าช้างและการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษาต่อไป
Description:
คณะผู้ร่วมวิจัย: จินตนา จิรถาวร, อนุพงค์ สุจริยากุล, วิวรพรรณ สรรประเสริฐ, พรพรรณ จรัสสิงห์