Abstract:
โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis) เกิดจากพยาธิ 2 ชนิดหลัก คือ Wuchereria bancrofti และ Brugia malayi ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคเท้าช้างเป็นโรคทางปรสิตที่ควรกำจัดให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคเท้าช้างคือการจัดให้มีโปรแกรมการรักษาแบบหมู่ โดยให้ยา diethylcarbamazine (DEC) ร่วมกับยา albendazole แก่ประชากรในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง และการควบคุมพยาธิภาวะ ปัญหาที่สำคัญของการรักษาโรคเท้าช้างคือ การใช้ยา DEC ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลังการรักษา กลไกของการเกิดพยาธิสภาพของโรคและการเกิดปฏิกิริยาหลังการรักษายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดได้ จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการกำจัดโรค การศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยาเชิงลึกของโรคเท้าช้างจะช่วยให้การกำจัดโรคสำเร็จลงได้อย่างยั่งยืน ผลการศึกษาในปีที่ 2 นี้ได้ศึกษารูปแบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของโรคเท้าช้าง พบระดับไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านการอักเสบ ได้แก่ interleukin-10 (IL-10) สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพเรื้อรัง ในขณะที่ระดับของไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบทบาทของ T lymphocyte ได้แก่ interleukin (IL)-12 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อปัจจุบัน และผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพเรื้อรัง (p<0.05) นอกจากนี้ การศึกษาระดับแอนติบอดีที่จำเพาะต่อพยาธิโรคเท้าช้างพบว่า แอนติบอดีชนิด IgG4 มีระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อปัจจุบัน (โครงการย่อยที่ 1) และจากการทบทวนวรรณกรรมตลอดจนค้นหาจากฐานข้อมูลได้พบยีน Wolbachia surface protein (wsp) ยีน peptidoglycan-associated lipoprotein (pal) และยีน heat shock protein 60 (hsp60) มีความน่าสนใจที่ใช้ศึกษาทางอิมมูนวิทยาต่อไป จึงได้โคลนและสร้างโปรตีนบริสุทธิ์ในห้องปฏิบัติการ และได้วัดระดับแอนติบอดีชนิดต่างๆ ที่จำเพาะต่อโปรตีน WSP ในกระแสเลือดของผู้ป่วยโรคเท้าช้าง พบว่าแอนติบอดีชนิด IgGI และ IgG3 มีระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อปัจจุบัน (P<0.05) นอกจากนี้ ยังพบแอนติบอดีชนิด IgGI มีระดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้ป่วยโรคเท้าช้างที่มีพยาธิสภาพ (p<0.05) (โครงการย่อยที่ 2) สำหรับการศึกษาความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน toll-like receptor 2(tlr-2) กับความไวรับและการเกิดพยาธิสภาพของโรคเท้าช้าง ได้ศึกษาพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่าง SNP ของยีน tlr-2 ที่ตำแหน่ง +597 กับความไวรับต่อการเกิดโรคเท้าช้าง (โครงการย่อยที่ 3) ทั้งนี้ โครงการ “การศึกษาภูมิคุ้มกันวิทยาเชิงลึกของโรคเท้าช้าง : มุ่งสู่การป้องกันภาวะเท้าช้างและการกำจัดโรคอย่างถาวร” ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการย่อยนี้ เป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2550-2552) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังการรักษาในผู้ป่วย รวมทั้งได้ผลิตโปรตีน HSP60 และ PAL เพื่อศึกษาความสำคัญต่อการเกิดพยาธิสภาพของโรคเท้าช้างต่อไป นอกจากนี้ ได้คัดเลือก SNPs ของยีน tlr-2 เพิ่มเติม เพื่อศึกษาความสัมพันธ์กับความไวรับและการเกิดพยาธิสภาพของโรค ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตัวติดตามเพื่อพยากรณ์การเกิดภาวะเท้าช้างต่อไป
Description:
คณะผู้ร่วมวิจัย: จินตนา จิรถาวร, อนุพงค์ สุจริยากุล, วิวรพรรณ สรรประเสริฐ, พรพรรณ จรัสสิงห์