Abstract:
วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อวงการสถาปัตยกรรมและผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัท/สำนักงานสถาปนิกต้องแก้ปัญหาและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในช่วงวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลของปัญหาเพื่อวิเคราะห์ทางแก้ปัญหาที่แท้จริง ดังนั้นกลุ่มผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สถาปนิกแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกในบริษัท/สำนักงานสถาปนิกเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งสถาปนิกอิสระที่หันไปประกอบวิชาชีพอื่นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยตรงนั้น มีวิธีการในการแก้ไขปัญหาและปรับตัวอย่างไรในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่า ผลจากการวิจัยนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวหรือหาวิธีแก้ปัญหา และปรับตัวเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางสถาปัตยกรรมขึ้นอีกครั้งในอนาคต รวมทั้ง เพื่อให้มีข้อมูลเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์กรทางวิชาชีพและสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรม ให้มีความก้าวหน้า และเกิดการพัฒนาวิชาชีพทางเลือก พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการค้าโลกอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต การศึกษาในครั้งนี้มีรูปแบบที่เป็นการวิจัยเชิงลักษณะ (Qualitative research) ใช้วิธีมุขปาฐะหรือประวัติศาสตร์จากการบอกเล่า (Oral history) โดยการสอบถามและการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth interview) แบบมีโครงสร้าง (Structured interview) กับกลุ่มตัวอย่างสถาปนิก 48 ราย ร่วมกับข้อมูลเอกสารและบทความที่เป็นข้อคิดเห็นจากสถาปนิกและผู้เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งการสำรวจอาคารที่เป็นผลงานของสถาปนิกกลุ่มที่ให้สัมภาษณ์ เนื้อหาของงานวิจัยนี้ แบ่งออกเป็น 7 บท สามบทแรกเป็นบทนำและการศึกษาปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสถานภาพทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่วนเนื้อหาในสามบทต่อมาเป็นการพิจารณา วิเคราะห์และประเมินปัญหา ทางเลือกของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม และแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม รวมถึงบทบาทของสมาคมวิชาชีพและสถาบันศึกษาทางสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว เนื้อหาในบทสุดท้ายเป็นบทสรุปและข้อเสนอแนะ ซึ่งการศึกษาวิจัยมีผลสนับสนุนกรอบแนวคิดพื้นฐานที่ว่า บริษัทสถาปนิกที่ประกอบการด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักโดยตรง ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ในระดับที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรนั้นๆ ขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของอาคารที่บริษัทดำเนินการอยู่ และขึ้นอยู่กับจำนวนบุคลากรและค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ในองค์กรก่อนเกิดวิกฤตการณ์ รวมทั้งบริษัท/สำนักงานสถาปนิกที่มีงานออกแบบที่เกี่ยวกับอาคารประเภทที่รองรับความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ได้รับผลกระทบไม่มากนักในช่วงวิกฤตการณ์ จากการศึกษาพบว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ได้สร้างความกระทบกระเทือนให้กับการบริหารงานของสำนักงาน/บริษัทสถาปนิกที่ประกอบการด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมหลักโดยตรงที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มากกว่าองค์กรขนาดเล็ก ในช่วงวิกฤตการณ์สำนักงาน/บริษัทสถาปนิกต่างต้องปรับวิธีการบริหารงานให้เกิดความคล่องตัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง ในขณะที่องค์กรกลางทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม เช่น สมาคมสถาปนิกสยามฯ และ สถาบันการศึกษาทางสถาปัตยกรรม มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องทางการเรียนรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ ในช่วงที่การลงทุนและการออกแบบปลูกสร้างอาคารมีการชะลอตัว ในช่วงวิกฤตการณ์บทบาทของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังมีไม่มากนัก ประกอบกับอยู่ในระยะเวลาของการเริ่มต้นของสภาสถาปนิกสำหรับในภาคบุคคล ผู้ประกอบวิชาชีพบางท่านต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด โดยการลดค่าใช่จ่ายและหายรายได้เสริม หรือเริ่มอาชีพใหม่ อย่างไรก็ดี งานวิจัยพบว่า สภาวะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดเฉพาะตัวในการออกแบบสถาปัตยกรรมของสถาปนิกมากนัก หากแต่ว่า สภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอมีผลให้ผู้ลงทุนมีความรอบคอบในการลงทุน และให้ความสำคัญกับวัสดุอาคารและเทคโนโลยีที่มีความประหยัดมากขึ้น รวมถึงกระแสความเชื่อทางด้านฮวงจุ๊ย ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจในขณะที่ประเทศประสบภาวะไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ท้ายสุด กลุ่มผู้วิจัยเสนอแนะให้ สถาปนิกต้องมีสติ และคิดแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ มีการควบคุมขนาดของบริษัทและเลือกประเภทของงาน การร่วมมือกันระหว่างบริษัทเพื่อรับงานขนาดใหญ่ และเลือกรูปแบบและระบบการบริหารที่มีความคล่องตัวสูงกว่าโดยใช้บริการภายนอก (Outsource) แทนบุคลากรภายในบริษัท
Description:
ปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจของประเทศ (ช่วงก่อน พ.ศ. 2540 และช่วง พ.ศ. 2540-2545) -- สถานภาพทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม (ช่วงก่อน พ.ศ. 2540 และช่วง พ.ศ. 2540-2545) -- ผลงานและแนวคิดในการออกแบบ: การปรับปรุง ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอย และต่อเติมอาคาร ; แนวคิดและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ; การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างและตกแต่งอาคาร ; ฮวงจุ้ยที่มีผลต่องานสถาปัตยกรรม -- บทบาทของสมาคมทางวิชาชีพและสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมในช่วงวิกฤตการณ์