Abstract:
งานวิจัยนี้วัตถุประสงค์เพื่อหาระดับสถานะสุขภาพของคนไทยช่วงอายุ 20-59 ปี และเพื่อหารูปแบบการดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานให้ได้รับการดูแลที่มีผลดีที่สุด รวมทั้งเพื่อหาแนวทางในการเตรียมการเพื่อรองรับปัญหาทุพพลภาพที่เหมาะสม งานวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ทำการประเมินสถานะสุขภาพประชากร โดยใช้แบบสอบถามประเมินสถานะสุขภาพตนเองที่พัฒนาจากแบบประเมินสถานสุขภาพ SF 36 รวมทั้งการตรวจของแพทย์ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระยะที่ 2 ทำการประเมินแนวโน้มการดูแลกลุ่มประชากรที่มีปัญหาทุพพลภาพ โดยใช้แบบสอบถามและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากผู้ป่วยเบาหวาน (DM type II) ที่ได้ทดลองใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบพกพา เป็นระยะเวลา 3 เดือน และจากกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้ทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าว ผลการวิจัยพบว่า ประชากรตัวอย่างส่วนใหญ่ประเมินสุขภาพตนเองว่าอยู่ในระดับดี แต่เมื่อแบ่งระดับชั้นของสุขภาพกลับพบว่าสุขภาพคนไทยอายุ 20-59 ปีกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพ จึงควรจัดให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่จะให้คำแนะนำหรือความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างถูกต้อง จริงจัง เข้าถึงอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยเบาหวานที่ทดลองใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์น้ำตาลชนิดพกพา ส่วนใหญ่เห็นว่าอุปกรณ์นั้นมีประโยชน์คุ้มค่ากับราคาที่จะต้องจ่ายและพึงพอใจกับอุปกรณ์ดังกล่าว ผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์นี้มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ใช้อุปกรณ์นี้ไม่พบการเปลี่ยนแปลงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราส่วนต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลมีค่าต่ำกว่าส่วนต้นทุน-ประสิทธิผลของการรักษาเบาหวานโดยไม่ใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาล จึงสรุปได้ว่าการนำเครื่องตรวจวิเคราะห์น้ำตาลชนิดพกพามาใช้ในการรักษาเบาหวานมีมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการรักษาแบบเดิมเพียงอย่างเดียว สำหรับแนวทางในการวางระบบการติดตามดูรักษาผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมโดยเร็วที่สุดในการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ใกล้กับระดับปกติ