Abstract:
การติดเชื้อแคนดิดาบนเนื้อเยื่อที่รองรับฟันปลอม เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอม อะคริลิก การแนะนำให้ใช้นิสเตตินผสมในวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อมีขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาการปลดปล่อยของนิสเตตินออกจากวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อที่ผสมนิสเตติน การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาการปลดปล่อยนิสเตตินจากวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อที่ผสมนิสเตตินโดยใช้ปริมาณยาและเวลาเป็นตัวแปร นิสเตตินที่ใช้มีสองปริมาณ คือ 11 มิลลิกรัม (47,000 ยูนิต) และ 23 มิลลิกรัม (100,000 ยูนิต) ผสมลงในวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อจีซี ซอฟไลเนอร์ ชิ้นงานทดลอง 5 ชิ้นถูกสร้างขึ้นให้มีรูปร่างแผ่นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร หนา 1.5 มิลลิเมตร และแช่ในน้ำลายเทียม (pH 7.0) ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เขย่าด้วยความเร็ว 115 รอบ/นาที เก็บตัวอย่างที่ 1 ชั่วโมง 6 ชั่วโมง 1 วัน 2 วัน 4 วัน 6 วัน และ 8 วัน และวัดการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 305 นาโนเมตร เพื่อหาค่าความเข้มข้นของนิสเตตินที่ปลดปล่อยออกมา ทำการศึกษาผลของนิสเตตินที่ปลดปล่อยจากวัสดุและนิสเตตินมาตรฐานต่อเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (ATCC 10231) ด้วยการเพาะกับเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ ความเข้มข้น 1.625 X 10[superscript7] CFU/มิลลิลิตร ในโปตัสเซียมฟอตเฟต บัฟเฟอร์ เข้มข้น 1 มิลลิโมลาร์ (pH 7.0) ที่ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง และหาร้อยละของเชื้อที่ตายบนวุ้นอาหารแซบบูโร่ ผลการทดลองแสดงว่า มีนิสเตตินเริ่มแรกปลดปล่อยออกมาอย่างสูงใน 1 วัน และมีการปลดปล่อยอย่างช้าๆจนถึงระยะสมดุลใน 6-8 วัน และพบว่าการผสมนิสเตตินปริมาณ 23 มิลลิกรัมในวัสดุ มีการปลดปล่อยนิสเตติน ออกมามากกว่าการผสมนิสเตตินปริมาณ 11 มิลลิกรัมในวัสดุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของการทดสอบแบบทีทุกช่วงเวลา (p<0.050) แต่ร้อยละการปลดปล่อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่ผสมในวัสดุไม่ต่างกัน นิสเตตินที่ปลดปล่อยจากวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อที่ผสมนิสเตติน 11 มิลลิกรัม ฆ่าเชื้อได้ร้อยละ 90.70 ใน 6 ชั่วโมง ในขณะที่นิสเตตินที่ปลดปล่อยจากวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อที่ผสมนิสเตติน 23 มิลลิกรัม ฆ่าเชื้อได้ร้อยละ 99.24 ใน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นนิสเตตินที่ใช้ผสมทั้งสองปริมาณต่างให้การฆ่าเชื้ออย่างสมบูรณ์ ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยที่วัดได้นั้นมีค่าใกล้เคียงกับช่วงความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อรา (ร้อยละ 97.55-100) ผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณนิสเตตินที่ใช้ผสมในวัสดุปรับสภาพเนื้อเยื่อมีผลต่อปริมาณการปลดปล่อยแต่ไม่มีผลต่อร้อยละการปลดปล่อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่ใช้ผสม และประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อราของนิสเตตินที่ปลดปล่อยออกมาต่อเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์มีความใกล้เคียงกับนิสเตตินมาตรฐาน