Abstract:
รวบรวมและศึกษารูปแบบกับองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ ในงานสมโภชพระราชพิธีต่างๆ ที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีขอบเขตการศึกษาเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 และเป็นภาพที่ปรากฏเฉพาะพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร การศึกษาได้บันทึกภาพถ่ายนาฏยศิลป์ในงานสมโภชพระราชพิธีต่างๆ บนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ จากพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร จำนวน 8 วัด และนำภาพถ่ายมาวิเคราะห์กับข้อมูลเอกสาร และข้อมูลการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทางนาฏยศิลป์ เพื่อใช้เป็นเหตุผลประกอบการวิเคราะห์ โดยตั้งประเด็นการศึกษา 3 หัวข้อ คือ 1. รูปแบบของนาฏยศิลป์ 2. องค์ประกอบของนาฏยศิลป์ 3. คุณค่าที่ได้รับ การศึกษาพบว่า นาฏยศิลป์ในงานสมโภชพระราชพิธีต่างๆ บนภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์สามารถแบ่งได้เป็น 1. โขน 2. ละคร 3. หนัง 4. หุ่น 5. การละเล่นของหลวง 6. การละเล่นต่างๆ 7. การละเล่นพื้นเมือง 8. การแสดงอื่นคือ งิ้ว โดยมีองค์ประกอบของนาฏยศิลป์ในเรื่องของ 1. ผู้แสดงและเครื่องแต่งกาย 2. เรื่องที่แสดง 3. เครื่องดนตรี 4. โอกาสการแสดงและสถานที่แสดง นาฏยศิลป์ในงานสมโภชพระราชพิธีต่างๆ บนภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีขึ้นด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อเป็นการแสดงความยินดีเฉลิมฉลองหรือบูชา เช่น นาฏยศิลป์สมโภชในพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ หรือในงานพระราชพิธีสมโภชช้างเผือก เป็นต้น ประการที่สอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีถวายพระเมรุมาศ โดยจะจัดนาฏยศิลป์ประเภทต่างๆ สมโภชโดยรอบของปริมณฑลและพระราชพิธีถวายพระเมรุมาศ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นประโยชน์แก่การศึกษาความรู้ ด้านประวัตินาฏยศิลป์ในประเทศไทยทางหนึ่ง นอกเหนือจากการศึกษาจากข้อมูลทางเอกสาร ภาพนาฏยศิลป์ดังกล่าวข้างต้น ให้คุณค่าและมีความสัมพันธ์กับวิชาอื่นหลายด้าน ทั้งด้านดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งนับเป็นความรู้และปัญญาของบรรพชนของไทย ที่ควรค่าแก่การศึกษาวิจัยให้ขยายกว้างขวางต่อไป