Abstract:
ศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ต่อการลดความว้าเหว่ในผู้สูงอายุ โดยมีสมมติฐานการวิจัยคือ (1) หลังการทดลอง ผู้สูงอายุที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ตามแนวพิจารณาเหตุผลอารมณ์และพฤติกรรม จะมีคะแนนความว้าเหว่าต่ำกว่าผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (2) ผู้สูงอายุที่ได้รับ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม จะมีคะแนนความว้าเหว่ในระยะหลังการทดลองต่ำกว่าก่อนเข้ากลุ่ม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีความว้าเหว่สูง ในสถานสงเคราะห์คนชราวาสนะเวศม์ จำนวน 14 คน โดยมีคะแนนความว้าเหว่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1 SD ได้ผู้สมัครใจเข้าเป็นกลุ่มทดลอง 7 คน และกลุ่มควบคุม 7 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ตามแนวพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ทั้งหมด 10 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ติดต่อกันสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 1.30-2 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้นประมาณ 18 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบวัดความว้าเหว่ ซึ่งผู้วิจัยได้พัฒนาจากแบบวัดความว้าเหว่ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย นครลอสแองเจลิส ฉบับที่ 3 (The UCLA Loneliness Scale (version 3)) ของรัสเซล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่าง ของค่าเฉลี่ยของคะแนนความว้าเหว่ ด้วยวิธีการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า (1) หลังการทดลอง ผู้สูงอายุที่เข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม มีคะแนนความว้าเหว่ต่ำกว่าผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) หลังการทดลอง ผู้สูงอายุที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม มีคะแนนความว้าเหว่ต่ำกว่าก่อนเข้ากลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05