Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือเพื่อศึกษาพัฒนาการของหลักภาษาไทยโดยใช้แบบเรียนภาษาไทยและตำราภาษาไทยทุกระดับเป็นตัวบ่งชี้ เพื่อศึกษาบทบาทของหลักภาษาไทยว่ามีผลต่อการศึกษาภาษาไทยเพียงใด และเพื่อศึกษาปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการพัฒนาหลักภาษาไทย ผลการศึกษาวิจัยพบว่าการศึกษาหลักภาษาไทยตั้งแต่สมัยการศึกษาแบบดั้งเดิมจนถึงสมัยการศึกษาแบบปัจจุบันได้พัฒนาเรื่อยมาเป็น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นสมัยการศึกษาแบบดั้งเดิม ระยะนี้ศึกษาหลักภาษาไทยเฉพาะด้านอักขรวิธีและฉันทลักษณ์ โดยมีแบบเรียนจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีเป็นตัวบ่งชี้ การศึกษาหลักภาษาไทยระยะที่สองเป็นสมัยที่มีการปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระยะนี้การศึกษาหลักภาษาไทย ได้พัฒนาการศึกษาอักขรวิธีให้เป็นระบบมากขึ้นดังปรากฏในหนังสือแบบเรียนหลวงของพระยาศรีสุนทรโวหาร และต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงขยายขอบเขตการศึกษาหลักภาษาไทยไปถึงด้านวจีวิภาคและวากยสัมพันธ์ โดยมีแบบเรียนเร็วเป็นตัวบ่งชี้การเรียนหลักภาษาไทยระดับต้นส่วนตัวบ่งชี้การเรียนหลักภาษาไทยระดับสูงคือ ตำราสยามไวยากรณ์ ซึ่งกรมศึกษาธิการและพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์เป็นผู้แต่ง ระยะที่สามนับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การศึกษาหลักภาษาไทยได้พัฒนามาใช้ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์มากขึ้นทั้งในระดับมัธยมและระดับมหาวิทยาลัย ตำราที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้การเรียนหลักภาษาไทยระดับมัธยมคือหนังสือเรียนภาษาไทยของกรมวิชาการ ส่วนระดับมหาวิทยาลัยที่ใช้ในคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ หนังสือหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร หนังสือนิรุกติศาสตร์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หนังสือโครงสร้างภาษาไทย ; ระบบไวยากรณ์ ของ ศาสตราจารย์ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ หนังสือระบบเสียงภาษาไทยของ ศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา นาคสกุล เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการศึกษาหลักภาษาไทยมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาภาษาไทยในลักษณะต่าง ๆ การศึกษาหลักภาษาไทยด้านอักขรวิธีมีบทบาทสำคัญโดยตรงต่อการปูพื้นฐานการอ่านและการเขียนภาษาไทย การศึกษาหลักภาษาไทยด้านวจีวิภาคและวากยสัมพันธ์มีบทบาทต่อการศึกษาวิเคราะห์ภาษาไทย ได้ลุ่มลึกขึ้นทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการพัฒนาการศึกษาหลักภาษาไทยในระยะที่มีการศึกษาแบบดั้งเดิม ในช่วงก่อนปีพุทธศักราช 2475 คือพระมหากษัตริย์ไทย ส่วนในระยะเวลาภายหลังปีพุทธศักราช 2475 เป็นต้นมานั้นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาการศึกษาหลักภาษาไทยคือนโยบายผู้บริหารทางการศึกษา ผู้แต่งตำราหรือแบบเรียนและปริบททางสังคม