Abstract:
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เป็นสถาบันกฎหมายที่ทำหน้าที่ควบคุมอำนาจของกลุ่มทุนมิให้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีเจตนารมณ์คือ "มุ่งส่งเสริมคุ้มครองการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดทางการค้า และจำกัดการแข่งขัน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการใช้ทรัพยากรแก่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศไทย และนำมาซึ่งประโยชน์ต่อผู้บริโภค" โดยกฎหมายมีหลักการควบคุมพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือตลาดที่ไม่เป็นธรรม และหลักการควบคุมการผูกขาดในเชิงโครงสร้างตลาดไปพร้อมกัน กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นลักษณะของการใช้อำนาจรัฐ เพื่อเข้าไปควบคุมกลุ่มทุนผูกขาดมิให้ใช้อำนาจเหนือตลาดในทางมิชอบ แต่ในยุคสมัยแห่งทุนนิยมไทยหลังทศวรรษ 2540 อำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดกลับมีอำนาจมีอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐ กระบวนการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 จึงอาจถูกแทกแซงโดยอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดผ่านกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง
โดยการแทรกแซงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมีความเป็นไปได้จาก รูปแบบขององค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย และที่มาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งส่วนหนึ่งกฎหมายบัญญัติให้ข้าราชการการเมือง สามารถเป็นประธานและคณะกรรมการการแข่งขันได้โดยตำแหน่ง และคณะกรรมการอีกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งข้อกำหนดกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ให้ชัดเจน แต่ให้อำนาจคณะกรรมการประกาศข้อกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงควรปรับปรุงรูปแบบองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้มีความเป็นอิสระเหมาะสมกับบริบททางการเมืองของประเทศไทย เพื่อลดโอกาสที่จะถูกแทรกแซงโดยกลุ่มทุนผูกขาดและอำนาจทางการเมืองให้น้อยที่สุด