Abstract:
ศึกษาผลของกลุ่มพัฒนาตนที่มีต่อสุขภาวะทางจิตของผู้สูงอายุ โดยเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม (Pretest-posttest control group design) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านบางละมุง ที่มีสุขภาวะทางจิตต่ำ จำนวน 19 คน โดยมีคะแนนสุขภาวะทางจิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 9 คน และกลุ่มควบคุม 10 คน กลุ่มทดลองเข้ากลุ่มพัฒนาตนเองแนวทรอตเซอร์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ติดต่อกัน สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 ครั้ง รวมเป็น 18 ชั่วโมง โดยมีผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่มเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบวัดสุขภาวะทางจิต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (One-way ANOVA repeated measures) และการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนสุขภาวะทางจิต ด้วยการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า 1) ในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลผู้สูงอายุที่เข้ากลุ่มพัฒนาตน มีคะแนนสุขภาวะทางจิตสูงกว่าก่อนเข้ากลุ่มพัฒนาตนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .001 2) ผู้สูงอายุในกลุ่มทดลองคะแนนสุขภาวะทางจิตในระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผลไม่แตกต่างกัน 3) ในระยะหลังการทดลองผู้สูงอายุที่เข้ากลุ่มพัฒนาตน มีคะแนนสุขภาวะทางจิตสูงกว่าผู้สูงอายุกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนที่ 2 ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้สูงอายุในกลุ่มทดลองจำนวน 9 คน จากการวิจัยเชิงปริมาณในระยะติดตามผล พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้ากลุ่มพัฒนาตนรับรู้ผลดีของการเข้าร่วมกลุ่ม ประสบการณ์ในระหว่างการเข้ากลุ่มที่เอื้อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะทางจิต เพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนเข้ากลุ่มและยังคงอยู่ในระยะติดตาผล ได้แก่ 1) กระบวนการกลุ่มและปฏิสัมพันธ์กับผู้นำกลุ่ม และสมาชิกของกลุ่มที่อบอุ่น ปลอดภัย ไว้วางใจ และยอมรับนับถือกัน ที่เอื้อให้สมาชิกมีการสำรวจตนเอง เปิดเผยตนเองและแบ่งปันประสบการณ์ 2) ผู้สูงอายุสัมผัสสัมพันธภาพที่เกื้อกูล อบอุ่น เข้าใจ และมีความหมาย ซึ่งเอื้อให้ผู้สูงอายุมีความเข้าใจและยอมรับตนเองและผู้อื่น และปัญหาที่ตนประสบมากขึ้นและเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก