Abstract:
วิเคราะห์ข้อมูลการทดสอบพันธุ์และข้อมูลทางด้านการสืบพันธุ์ของสุกรพันธุ์แท้ จากฟาร์มเอกชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุกรพันธุ์ดูรอค ยอร์กเชียร์ แลนด์เรซ และลาร์จไวท์ จำนวน 2,96, 4,468, 4,194 และ 9,908 ตัว ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2535-2546 ด้วยโปรแกรม BLUPF90 –PigPAK 2.5 ผลการวิเคราะห์ทั้ง 4 พันธุ์ ค่าอัตราพันธุกรรมของลักษณะอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน ลักษณะอัตราการเพิ่มของเนื้อแดง ลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดทั้งหมด ลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดมีชีวิต และลักษณะน้ำหนักลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิต มีค่าเท่ากับ 0.24, 0.34, 0.12, 0.07 และ 0.19 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฏ ระหว่างลักษณะอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน กับลักษณะอัตราการเพิ่มของเนื้อแดงมีค่าเท่ากับ 0.53 และ 0.59 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฏ ระหว่างลักษณะอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน กับลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดทั้งหมดมีค่าเท่ากับ -0.12 และ 0.02 ตามลำดับ ค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฏ ระหว่างลักษณะอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน กับลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดมีชีวิตมีค่าเท่ากับ -0.21 และ 0.01 ตามลำดับ และมีค่าสหสัมพันธ์ทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฏ ระหว่างลักษณะอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวัน กับลักษณะน้ำหนักลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิต มีค่าเท่ากับ 0.01 และ 0.01 ตามลำดับ
การคัดเลือกสุกรพ่อแม่พันธุ์ให้มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันมากขึ้น มีค่าผลตอบสนองโดยตรงเท่ากับ 0.880+-0.280 กรัมต่อวันต่อปี ผลตอบสนองทางอ้อมต่อลักษณะอัตราการเพิ่มของเนื้อแดงต่อวันมีค่าเท่ากับ -0.001+-0.060 กรัมต่อวันต่อปี ผลตอบสนองทางอ้อมต่อลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดทั้งหมด และลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดมีชีวิตมีค่าเท่ากับ -0.007+-0.003 และ -0.009+-0.003 ตัวต่อปี ตามลำดับ และผลตอบสนองทางอ้อมต่อลักษณะน้ำหนักลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิตมีค่าเท่ากับ -0.001+-0.003 กิโลกรัมต่อตัวต่อปี สรุปได้ว่าฟาร์มเอกชนนี้มีแนวโน้มของผลตอบสนองทางอ้อมต่อลักษณะอัตราการเพิ่มของเนื้อแดง ลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดทั้งหมด ลักษณะจำนวนลูกแรกคลอดมีชีวิต และลักษณะน้ำหนักลูกสุกรแรกคลอดมีชีวิตในเชิงลบอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ