Abstract:
ความสำคัญและที่มาของปัญหางานวิจัย มีข้อสันนิษฐานว่าอาหารเผ็ด หรือพริกป่นแดงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหาร แต่ผลของพริกป่นในโรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหารยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาผลของการรับประทานอาหารที่มีพริกป่นแดงต่อการเกิดกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหาร การเคลื่อนผ่านของอาหารผ่านกระเพาะอาหาร และอาการกรดไหลย้อน ในอาสาสมัครที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารคล้ายโรคกรดไหลย้อน ระเบียบวิธีการวิจัย อาสาสมัครที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารคล้ายโรคกรดไหลย้อน 12 รายเข้าร่วมการศึกษา โดยแต่ละรายจะทำการตรวจใส่สายวัดกรดในหลอดอาหาร และตรวจการเคลื่อนผ่านของอาหารผ่านกระเพาะอาหารด้วยวิธีถ่ายภาพทางรังสีนิวเคลียร์ หลังรับประทานอาหารที่แตกต่างกันสองแบบ คือ (i) อาหารมาตรฐาน (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและไข่ไก่หนึ่งฟอง) (ii) อาหารมาตรฐานผสมพริกป่นแดง (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ไก่หนึ่งฟอง และพริกป่นแดงปริมาณสองกรัม ) โดยการสุ่มและการทดสอบทั้งสองครั้งมีระยะเวลาห่างกันหนึ่งสัปดาห์ อาการกรดไหลย้อนถูกบันทึกไว้ตามความรุนแรงโดยใช้แบบสอบถาม (100 mm VAS) ผลการวิจัย หลังการทดสอบมีอาสาสมัคร 11 รายที่ทำการศึกษาได้ครบทั้งสองครั้ง หลังรับประทานอาหารทั้งสองชนิดพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหาร ปริมาณอาหารคงค้างในกระเพาะอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงหนึ่งชั่วโมงหลังรับประทานอาหารที่มีพริกป่นแดงเทียบกับอาหารมาตรฐาน (p = 0.05) จำนวนครั้งของกรดไหลย้อน ช่วงเวลาที่มีกรดในหลอดอาหาร ค่าความเป็นกรดในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร และอาการกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหาร ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างอาหารมาตรฐานกับอาหารที่มีพริกป่นแดง อย่างไรก็ตามพบว่าการรับประทานอาหารที่มีพริกป่นแดงในอาสาสมัครที่ผลการตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมงเป็นผลบวก มีจำนวนครั้งของกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงชั่วโมงที่สองหลังรับประทานอาหาร สรุป หลังการรับประทานอาหารมาตรฐาน และอาหารที่มีพริกป่นแดงทำให้การเกิดกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหารไม่แตกต่างกัน ช่วงชั่วโมงที่สองหลังรับประทานอาหารที่มีพริกป่นแดงพบว่ามีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าการรับประทานอาหารเผ็ดทำให้เกิดกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้ามาในหลอดอาหารได้นานกว่าอาหารมาตรฐาน โดยอาจสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของปริมาณอาหารคงค้างในกระเพาะอาหาร