Abstract:
ศึกษาประวัติความเป็นมา ศึกษาองค์ประกอบทางดนตรี และวิเคราะห์ทำนองเห่กล่อมในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ โดยศึกษาค้นคว้าจากข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ทำนองเห่กล่อมที่ได้บันทึกไว้โดย อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่วงเครื่องประโคม ผลการศึกษาพบว่ามีหลักฐานแสดงถึงพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพระอัครมเหสีทรงพระครรภ์และเมื่อมีพระสูติกาลของราชกุมาร อีกทั้งยังปรากฏว่าได้มีการตราพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ไว้ในกฎมณเฑียรบาล ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ได้รับการสืบทอด และบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช การเห่กล่อมโดยวงขับไม้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ปรากฏเป็นครั้งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ามีใช้ครั้งแรกในสมัยใด ดนตรีในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่มี 3 วงคือ วงประโคมแตรสังข์ ใช้บรรเลงประกอบในช่วงแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินถึงพระที่นั่งและบรรเลงประโคมช่วงที่สองเมื่อทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ขลิบพระเกศา และขณะที่พราหมณ์ออกแว่นเวียนเทียน วงปี่พาทย์พิธีใช้บรรเลงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในช่วงที่หนึ่งและช่วงที่สองเพื่อสื่อความเป็นสิริมงคลในพระราชพิธี เป็นการอำนวยพรให้มีความสุข วงขับไม้ใช้บรรเลงในประราชพิธีเพื่อเป็นการขับกล่อมพระบรรทมให้กับพระราชกุมาร
ผลการวิจัยทำนองเห่กล่อมพบประเด็นสำคัญคือทำนองดนตรีที่ใช้ในการเห่กล่อมนั้น ประกอบด้วยวรรคทำนองที่ยาว อยู่ในจังหวะช้าปานกลาง มีการตกแต่งเสียงด้วยระดับเสียงต่างๆ ตามหลักคีตศิลป์ไทย และมีเครื่องดำเนินทำนองประกอบการขับคือ ซอสามสายและบัณเฑาะว์ การดำเนินทำนองของผู้ขับทำนองเห่กล่อมและผู้สีซอสามสายนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน ผู้สีซอสามสายจะต้องคำนึงทางขับเป็นหลัก ในการดำเนินทำนองของซอสามสายในช่วงระหว่างการขับ จะต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันผู้สีซอสามสายสามารถที่จะประดิษฐ์ทำนอง ที่มีความแตกต่างให้เหมาะสมกับช่วงของทำนองขับ เพื่อให้เกิดความวิจิตรทางด้านทำนองเพลงจนจบกระบวนการเห่กล่อม